• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคใต้ 11 จังหวัด พร้อมระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 มกราคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 ม.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.สงขลา และสตูล โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ เฝ้าระวังปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 มกราคม ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ประกอบกับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร พร้อมทั้ง ให้กรมทรัพยากรน้ำเฝ้าระวังพื้นที่มีความชื้นในดินสูงช่วงวันที่ 20 – 25 มกราคม เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ กอนช. ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยช่วงวันที่ 21 – 26 มกราคมนี้ โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 23 – 24 มกราคม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยใน จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มกราคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-25 มกราคม นี้ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากนั้น จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยเน้นย้ำให้เฝ้าติดตามและตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ตลอดจนปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงให้สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 มกราคม 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเช้านี้เกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่ โดยช่วงวันที่ 22-24 มกราคมจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำและอากาศปิด

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้ (18 ม.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นเกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 6 พื้นที่ บริเวณ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร , ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม , ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน , สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา , ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา และริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและลมสงบจึงเกิดการสะสมของฝุ่น ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงวันที่ 22-24 มกราคม จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง และลมสงบ บริเวณพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ ประกอบกับ มีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เข้ามา จึงขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้ม ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 มกราคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนงานของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเป็นการปรับปรุง/ขุดลอกคลอง งานอาคารบังคับน้ำ งานก่อสร้างคลองถนน งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ และงานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลและอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกทางหนึ่งด้วย

โดยมีแผนดำเนินโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 – พ.ศ. 2571 อาทิ งานปรับปรุง/ขุดลอกคลองในแนวเหนือ-ใต้ และอาคารบังคับน้ำ ช่วงตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึงคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทยระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร /งานปรับปรุงคลองเดิมระยะทาง และก่อสร้างคลองถนน บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 ที่มีอัตราการสูบน้ำรวม 30 ลบ.ม./วินาที ,งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัย เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิง และระบายน้ำออกจากแก้มลิงคลองมหาชัย–คลองสนามชัยลงสู่ทะเล เป็นต้น

ปัจจุบันกรมชลประทาน ดำเนินการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้จะประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ และยังสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่ทะเลในพื้นที่ตอนล่างบริเวณชายทะเลและยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองสำหรับใช้ในช่วงแล้งอีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มกราคม 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้ (16 ม.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลาง โดยค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์ดีทุกพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศเปิดและมีลม จึงลดการสะสมของฝุ่นลง

ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงวันที่ 17 - 18 มกราคม และ 20 - 23 มกราคม ต้องเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ประกอบกับมีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เข้ามา โดยพื้นที่ควรเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือและกรุงธนใต้

ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่งและขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือพื้นที่สีส้ม ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคใต้ช่วงวันที่ 19 - 23 มกราคมนี้ โดยกำชับทุกหน่วยงานพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (15 ม.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.พัทลุง , นครศรีธรรมราช และตรัง โดย กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น และช่วงวันที่ 20 - 23 มกราคม อาจมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) วิเคราะห์และคาดการณ์พายุหรือหย่อมความกดอากาศที่จะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ // การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาปริมาณน้ำและศักยภาพของเขื่อนบางลางรองรับความเสี่ยงกรณีที่อาจเกิดพายุหรือหย่อมความกดอากาศกำลังแรงได้อย่างปลอดภัย // กรมชลประทาน พิจารณาการระบายน้ำด้านท้ายน้ำ โดยให้เกิดผลกระทบในพื้นที่น้อยที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 มกราคม 2566

สำนักงานปศุสัตว์อำเภอด่านซ้าย มีเกษตรกรขอรับบริการน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 2 ลิตร เกษตรกร 1 ราย นายสุรินทร์ ฤทธิ์ศักดิ์ บ้านเลขที่ 257 บ้านห้วยมุ่น หมู่ที่ 8 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย เลี้ยงโคเนื้อ 58 ตัว พร้อมให้คำแนะนำการผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยง การดูแลสุขภาพสัตว์ การป้องกันโรคฯ เพื่อให้เกษตรกรสร้างความเข้มแข็งในการเลี้ยงด้วยตนเอง แก่เกษตรกรผู้ขอรับบริการฯ ณ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 มกราคม 2565

เพจกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงกรณีที่การเผยแพร่ภาพและข้อความเกี่ยวกับสภาพอากาศในตอนเช้าที่มีลักษณะคล้ายหมอก หรือ PM 2.5 บริเวณกรุงเทพมหานคร อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ว่า จากการติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศในระยะ 2-3 วันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื่นจากทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหาครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังมีอากาศเย็นถึงหนาว และมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้

สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน เป็นลมที่พัดจากทะเลนำความชื้นเข้าปกคลุมก่อให้เกิดหมอกเหนือพื้นดินได้ในเวลากลางคืนและจากหายไปในเวลาเช้าภายหลังดวงอาทิตย์ขึ้น เกิดจากตอนกลางคืนพื้นดินจะคลายความร้อน หรือแผ่รังสีออกได้มากเป็นเหตุให้พื้นดินเย็นลง อากาศในชั้นล่างที่อยู่ใกล้พื้นดินจะเย็นลงด้วย จนมีอุณหภูมิเท่ากับจุดน้ำค้างทำให้ไอน้ำในอากาศที่อยู่ใกล้พื้นดินกลั่นตัวเกิดเป็นหมอก โดยลักษณะอากาศที่นิ่งและลมอ่อน ประกอบกับช่วงเช้ากิจกรรมของคนในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดฝุ่นละอองมากขึ้นในตอนเช้า จึงเกิดการคลุกเคล้าของหมอกและฝุ่นรวมกันได้ ส่งผลให้ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลง


  1. ไทย และซาอุดีอาระเบีย ร่วมกันต่อยอดความร่วมมือด้านการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใช้ BCG Model เป็นกลไกขับเคลื่อน
  2. กทม. และปริมณฑลคุณภาพอากาศดี ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ หลังอากาศเปิดและมีลมช่วยการสะสมของฝุ่นลง
  3. กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด ถึง 11 ม.ค.นี้ พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
  4. เช้านี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลเกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 15 พื้นที่ โดยพรุ่งนี้ (10 ม.ค.66) จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.