• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 พฤษภาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 หวังสร้างรู้ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้สนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ??

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) , บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) , บริษัท ดิทโต้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท บุษราคัม ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ที่ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับการดำเนินงานและพันธกรณีของประชาคมโลก ทั้งนี้ ประเทศไทย เน้นยกระดับการทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของไทย โดยเฉพาะการจัดทำเป้าหมายระดับชาติ (national targets) ภายใต้แผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566 – 2570 ควบคู่กับการจัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว พ.ศ. 2567 – 2590 และให้ความสำคัญของการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ต้องควบคู่กันไป

สำหรับกิจกรรมภายในงานครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โลกขยับ ไทยปรับตัว : จาก Kunming-Montreal GBF สู่ยุทธศาสตร์การดําเนินงานของประเทศไทย” // กิจกรรม IDB Talk หัวข้อ “บทบาทของภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมกับภารกิจ 2030 Mission ลดการสูญเสีย เพิ่มการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” // การเสวนาในหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย” และการจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 พฤษภาคม 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันเร่งศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินโครงการศึกษาวิจัย และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่รับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมนำผลการวิจัยหรือข้อมูลที่ได้ไปทำงานร่วมกันในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานและประชาชน ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และต่อยอดโครงการศึกษาวิจัยและงานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ควบคู่กับ เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศทั้งระดับนโยบาย การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในงานด้านการสำรวจศึกษาวิจัยและงานฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมา 2 หน่วยงานได้ร่วมกันสำรวจ ศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ และฟื้นฟูปะการังหญ้าทะเล-สัตว์ทะเลหายาก การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเล เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยและพื้นที่อื่นๆ ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้ง ยังร่วมกันในการจัดทำฐานข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระดำริและโครงการอื่นๆ และร่วมกันพัฒนาบุคลากร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำตามแผนรับมือฤดูฝนปีนี้ หลังประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (18 พ.ค.66) ว่า กอนช. ได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผนปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้ประเมินและคาดการณ์ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติหรือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 เสี่ยงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม จึงกำชับให้วางแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต รวมทั้ง ติดตามผลการจัดสรรน้ำหน้าแล้งภายใต้ 10 มาตรการรองรับหน้าแล้งปี 2565/66 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำหน้าแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566 ปริมาณ 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร พบการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภาพรวมใช้น้ำรวมทั้งประเทศประมาณ 25,200 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้ ขณะที่การเพาะปลูกพืชหน้าแล้งปี 2565/66 ทั้งประเทศรวม 10.38 ล้านไร่ เป็นไปตามแผนเช่นกัน

ขณะที่ภาพรวมสภาพอากาศลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 พฤษภาคม 2566

เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2566 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สำหรับในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาคือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่ หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา และมีพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

สำหรับผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปี พ.ศ.2566 นี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดีผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินหญ้าและเหล้า ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า ถ้าพระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

ในโอกาสเดียวกันนี้ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 3 ราย และเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2566 จำนวน 33 ราย รวม 35 ราย ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 พฤษภาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคของเสียชุมชน

นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกันหารือการขับเคลื่อนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเกี่ยวกับข้อเสนอการยกระดับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง , ข้อเสนอการจัดระบบการคัดแยกและเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยให้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวให้ร่วมกันสนับสนุนโครงการที่มีความพร้อมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งโครงการเดิมและข้อเสนอใหม่ การปรับปรุงตัวเลขการรวมกลุ่มพื้นที่ Cluster ในการจัดการมูลฝอยของ อปท. ส่วนการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะ คพ. ได้จัดทำข้อเสนอรูปแบบการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท เพื่อให้ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางให้เกิดการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน โดยจะนำข้อเสนอรูปแบบการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทเสนอกรรมการควบคุมมลพิษและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้มีระดับนโยบายสนับสนุนร่วมกันคัดเลือกพื้นที่นำร่อง เพื่อถอดบทเรียนการวางระบบคัดแยกฯ และกฎกติกาทางสังคมที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นกฎระเบียบภายใต้กฎหมาย ณ ปัจจุบัน

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า เมื่อ อปท. สามารถคัดแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการสนับสนุน อปท. ให้สามารถจัดการขยะอาหาร ณ ปลายทางได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการคัดแยกขยะอาหารที่ดีจะทำให้ไม่สามารถนำขยะประเภทอื่นกลับไปใช้ประโยชน์ได้มีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญขยะอาหารยังเป็นสาเหตุหลักการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคของเสียชุมชน ดังนั้น คพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุน อปท. ให้มีระบบการจัดการขยะอาหาร ณ ปลายทาง และส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดธุรกิจจากการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะที่ส่งกำจัดต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 พฤษภาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงแล้งปี 2565/66 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566 ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการหน้าแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่าการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้

ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10 ล้านไร่ สำหรับในช่วงฤดูฝนปีนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566 ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของกอนช. รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 พฤษภาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมให้กรมชลประทานประเมินผลการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (14 พ.ค.66) ว่า กอนช. ได้เฝ้าระวังประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กับมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก ส่วนลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเมียนมาช่วงวันนี้ถึง 15 พฤษภาคม ซึ่งบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร และห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ทั้งนี้ กอนช. ได้วางแผนป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนนี้ โดยเฉพาะการประเมินผลการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในโครงการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 โดยกรมชลประทานได้ติดตามสภาพปัญหาอุทกภัยปี 2565 คือ ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสภาพปัญหาน้ำท่วมทุ่งรับน้ำผักไห่และการระบายน้ำของคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนต่อเนื่อง // โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับทราบผลการดำเนินการการระบายน้ำหลาก ปัญหาอุปสรรคของการรับน้ำและการระบายน้ำในทุ่งรับน้ำเจ้าเจ็ดต่อเนื่องทุ่งรับน้ำพระยาบรรลือ

รวมทั้ง ยังติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว พร้อมเครื่องสูบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม (ระยะที่ 1) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม งบประมาณ 42 ล้านบาท และตั้งงบประมาณดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ในปี 2567 จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งคลองบางแก้ว ความยาวประมาณ 400 เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤษภาคม 2566

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดให้ใช้เครื่องมือ วิธีการทำประมงที่ไม่เป็นการทำลายพันธุ์ทรัพยากรสัตว์น้ำจืดและเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้จับสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีพให้สามารถจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาการบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัวและเกิดขึ้นใหม่เข้าทดแทนสัตว์น้ำเดิมที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ประชาชนเช่นเดียวกับมาตรการปิดอ่าวของฝั่งทะเล

จากการติดตามประเมินผลมาตรการฤดูน้ำแดงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2565) ที่ผ่านมาครอบคลุมพื้นที่ 20 ลุ่มน้ำ 49 จังหวัด 72 แหล่งน้ำ 126 จุดเก็บตัวอย่าง รวมตัวอย่างปลาทั้งหมด 175 ชนิด พบว่า ปลาส่วนใหญ่วางไข่เกือบทั้งปี โดยผลสำเร็จจากการออกประกาศฯ ที่ผ่านมา สามารถรักษาพ่อแม่พันธุ์ในภาพรวมของประเทศไทยได้มากถึงร้อยละ 59.9 ซึ่งปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ มีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ลักษณะอากาศของประเทศไทยราย 3 เดือนปรากฎการณ์เอนโซ่ยังคงสภาวะเป็นลานีญา และปรากฎการณ์เอนโซ่จะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ซึ่งจะทำให้ในช่วงมีนาคม - พฤษภาคม 2566 ปริมาณฝนและอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยจะใกล้เคียงค่าปกติ นั่นหมายถึงว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง และเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง)

มาตรการฯ ฤดูน้ำแดง ยังคงกำหนดพื้นที่และระยะเวลา รวมถึงเครื่องมือที่ให้ใช้เป็นไปตามมาตรการเดิม โดยมีการเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ให้สามารถออกประกาศกำหนดพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมง เพื่อให้มีความเหมาะสมตามสภาพข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขในการทำการประมง ประจำปี 2566 แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้อาทิ เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป รวมถึงแหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) เป็นต้น

กรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยห้ามทำการประมงที่ใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด ตามวรรคหนึ่ง 1 – 5 ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนั้นด้วยหากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.