• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ยังเฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังเฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วง24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ตราด แพร่ หนองบัวลำภู และพระนครศรีอยุธยา โดย กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญต่อเนื่องหลังยังพบมีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ต้องเตรียมพร้อมต่อเนื่องในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 สิงหาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกัน 41,954 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55% ของความจุอ่างฯ พบเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 18,014 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนช่วงต้นหน้าแล้งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น โดยไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งหรือข้าวนาปรังปี 2566/67 ได้ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในปีนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยกรมชลประทานได้เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดหน้าแล้งปี 2566/67 ที่กำลังจะมาถึงนี้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.