• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยารับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยารับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี ระยอง และนราธิวาส โดยให้ สทนช. เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 41,789 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 34,548 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 10,258 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 14,613 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ มีเกษตรกรทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ หรือร้อยละ 85 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 980,000 ไร่ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ หรือร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 960,000 ไร่ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 มีปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.