สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 21 สิงหาคม 2566
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 21 จังหวัด ถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรับมือฝน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ตราด อุบลราชธานี และระนอง โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ในพื้นที่ 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย 12 นาย ร่วมกับ กรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดงเร่งแก้ปัญหาถนนทรุดตัวที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดดินสไลด์ทับท่อระบายน้ำ ด้วยการทำการติดตั้งแบบเทลีนท่อระบายน้ำ พร้อมวางท่อระบายน้ำ 15 ท่อนทั้ง 2 ฝั่งถนน บริเวณเส้นทาง บ.หนองบัว - บ.หัวฝาย อ.แม่สอด จ.ตาก ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ทั้งนี้ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมรับมือฝนปีนี้ตาม 12 มาตรการ โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย พร้อมตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบควบคุมการเปิด-ปิดบานระบายและการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ ส่วนโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองและโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มีโครงข่ายระบบชลประทาน 13 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ รวมทั้ง แก้มลิงและอาคารประกอบ 20 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยใจังหวัดหนองคายและอุดรธานี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ แล้วยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน รวม 37 ตำบล 7 อำเภอในหนองคายและอุดรธานี โดยมีครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน ที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง