• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ ตราด นราธิวาส กรุงเทพมหานคร เชียงราย และกาญจนบุรี ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนที่มีแนวโน้มจะแรงขึ้นช่วงปลายปี ก่อนจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 จึงกำชับให้เดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัดและมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ คือ จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด // ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยจะดำเนินการควบคู่กับ 12 มาตรการเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญให้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ในส่วนของกรมชลประทานยังคงเร่งกำจัดวัชพืชในคลองหกสายล่างบริเวณพื้นที่ ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก

ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้ สทนช. ภาค 1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ประเมินไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงและวางแผนป้องกันปัญหาเร่งด่วนหากมีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น พื้นที่ ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย พบเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานอยู่ช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด คือ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ซึ่งพืชอยู่ช่วงระยะมีความต้องการน้ำมาก ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ทั้งบึงสวย หนองยาง หนองกระเบื้อง หนองปลิง และหนองนาคมีปริมาณน้ำน้อยอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่า อีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่จะเกิดความเสียหายต่อพืชได้ สำหรับแผนการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริเวณหนองปลิง รวมถึง การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ จากการประเมินเบื้องต้นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.