• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 มิถุนายน 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์และสร้างความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคกลางลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและการลดปริมาณขยะอาหาร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และความตระหนักในการลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics) และการลดปริมาณขยะอาหาร (Food Waste) พื้นที่ภาคกลาง บริเวณสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความร่วมมือบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอาหาร ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ลด - เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการสร้างขยะอาหาร และกระตุ้นสังคมให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจัดกิจกรรมไปแล้ว 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก เพราะช่วยสร้างการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนในทุกภูมิภาค กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและเห็นถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการลดประมาณขยะอาหาร ด้วยการสนับสนุนให้นำอาหารที่ยังรับประทานได้ เรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” ส่งต่อให้หน่วยงานไม่แสวงกำไร หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกต้องฝังกลบประมาณ 1,300 ล้านตัน ก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งขยะอาหาร (Food Waste) ปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจกหรือทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 25 เท่า


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรธรณี ย้ำ กรุงเทพมหานครมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า

นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 บริเวณตอนเหนือของทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมาตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ที่มีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี โดยรอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตมาแล้ว เช่น ปี 2473 ขนาด 7.3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จากการสรุปสถิติแผ่นดินไหวในรอบ 50 ปี ระหว่างปี 2516 – 2566 ซึ่งตามแนวรอยเลื่อนสะกายเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9 - 7.0 สำหรับกรุงเทพมหานครและภาคกลางมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งที่เป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะใกล้ เช่น รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา หากเกิดแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งระยะใกล้และระยะไกลชั้นดินเหนียวในพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวสูงถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนชั้นดินเหนียวอ่อน (ดินเหนียวกรุงเทพ) สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3 - 4 เท่า ทำให้อาคารสูงสั่นโยกและอาจจะเสียหายได้ และอาคารสูงที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ที่ไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงแผ่นดินไหว

ด้าน นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อน พาดผ่านพื้นที่ 23 จังหวัด ปัจจุบันรอยเลื่อนที่พบมีการเคลื่อนที่ต่อเนื่องทำให้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณภาคเหนือ คือ กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านเชียงใหม่และลำพูน // กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว พาดผ่านเชียงราย โดยพบแผ่นดินไหวขนาด 2- 4.5 (จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งไม่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง แต่ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ สำหรับภาคใต้พบมีกลุ่มรอยเลื่อนสำคัญ คือ กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านพังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ที่ผ่านมาพบการเกิดแผ่นดินไหวมีขนาดไม่เกิน 4.5 เกิดขึ้นประมาณ 3 - 4 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีความถี่ในการเกิดน้อยกว่ากลุ่มรอยเลื่อนบริเวณภาคเหนือ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มิถุนายน 2566

กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศเมียนมา จนประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวในหลายพื้นที่ เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้รับรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม หรือ Aftershock 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น. จากการตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่งผลกระทบจนประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เขต คือ เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง และคันนายาว // จ.นนทบุรี บริเวณอำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมือง // จ.ปทุมธานี บริเวณเทศบาลนครรังสิต เนื่องจากกรุงเทพมหานครรองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกลจะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานีรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวม 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับให้เร่งปรับปรุงเขื่อนลำปาวเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาวและบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า กอนช. ได้ติดตามการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงต้นฤดูทำนาปีและหน้าแล้ง ส่วนช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ ทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณที่ลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลง เช่น เกษตรกรหันไปเลี้ยงกุ้งและการประมงมากขึ้น ทำให้กรมชลประทานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กำลังวางแนวทางปรับปรุงเพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมหัวงานเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชลประทาน บริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาว และบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี พร้อมเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประปา และอุตสาหกรรมขนาดเล็กใน จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้ง สามารถส่งน้ำและระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 306,963 ไร่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 มิถุนายน 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อปรับปรุง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสำหรับผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับบำบัดกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ก่อกำเนิดของเสีย 60,638 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำปี (สก.3) ภายในวันที่ 1 เมษายนของปีถัดไป ในส่วนของผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย คือ โรงงานลำดับประเภท 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ จะต้องมีการรายงานข้อมูลครั้งแรกภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ส่งรายงาน หรือส่งล่าช้าจะมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ขออนุญาตการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มิถุนายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ในการป้องกันภัยพิบัติ

สำหรับระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยติดตั้งเป็นแห่งแรกของกรมชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสถานีสำรวจทางอุทกวิทยา S.42 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากลุ่มน้ำป่าสักมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากสภาพทางภูมิประเทศที่ลาดชัน ซึ่งสถานีเรดาร์ดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ได้แบบ near real time สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสักไปจนถึงท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยระบบเรดาร์นี้ จะวัดข้อมูลฝนเชิงพื้นที่ ที่มีความละเอียดสูงพร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลประมวลผลเรดาร์ผ่าน J-BIRDS Software ที่จะแสดงข้อมูลปริมาณฝนสะสม ความเข้มของฝน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของลมหรือพายุ ก่อนจะถูกนำไปประมวลผลด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ ที่ติดตั้งอยู่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลตรวจวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำท่าจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ ทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะนำระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเรดาร์ตรวจอากาศดังกล่าว มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 มิถุนายน 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เฝ้าระวังผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญที่จะเริ่มในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้นยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรง

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. จากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบปัจจุบันปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติของฤดูฝนถึงร้อยละ 5 ขณะนี้ปรากฎการณ์เอนโซยังมีสถานะเป็นกลาง คาดว่า มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ระยะสั้น 10 วันล่วงหน้ายังไม่พบพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรง แต่อาจมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบางพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ เช่น กรมชลประทาน ได้ส่งรถบรรทุกน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและประชาชนในพื้นที่บ้านป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในระยะยาว 2 ปี ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในสภาวะเอลนีโญให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 มิถุนายน 2566

ประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชีย (WARN) เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานด้านอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชีย

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การประชุม "WARN Conference 2023" หรือการประชุมเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชีย (WARN) ปีนี้ จัดโดย มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ถึงวันที่ 15 มิถุนายน มีผู้แทนองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 10 ประเทศ ณ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข่าวสารและข้อมูลที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนภารกิจการทำงานด้านอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมดังกล่าวได้หยุดชะงักไปจากสถานการณ์โควิด -19 สำหรับการทำงานด้านการอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่า เป็นงานที่ท้าทายต้องอาศัยความมุ่งมั่น เสียสละ อุทิศกำลังใจและกาย เพื่อช่วยเหลือดูแลให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัยในธรรมชาติอย่างปลอดภัย รยมถึง การดูแลสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงให้มีสวัสดิภาพที่ดี การช่วยกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยบางพื้นที่สัตว์ป่ามีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ จึงต้องประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ป่าเหล่านั้น

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวย้ำว่า การช่วยเหลือและดูแลสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง หรือสัตว์ป่าที่ถูกทอดทิ้งจากผู้ลักลอบเลี้ยงอย่างผิดกฎหมาย จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 โดยการขึ้นทะเบียนสถานที่จัดไว้สำหรับเลี้ยงดูสัตว์ ดูแล รักษาสัตว์ ยังอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดที่จะต้องออกเป็นระเบียบต่อไป ดังนั้น การประชุมเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ จึงเสริมสร้างประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือได้ต่อเนื่อง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.