• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. เร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำรอบใหม่ หลังคาดการณ์จะมีฝนตกหนักในภาคกลางช่วง 2 - 3 วันนี้

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 ตุลาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำรอบใหม่ หลังคาดการณ์จะมีฝนตกหนักในภาคกลางช่วง 2 - 3 วันนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วง 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆมีน้ำสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น สุโขทัย พิจิตร แพร่ โดยปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศได้ไหลมารวมกันที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ของพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลเข้าไปกักเก็บในบึงบอระเพ็ดที่มีศักยภาพรองรับน้ำหลากหรือน้ำส่วนเกินได้จำนวนมาก ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาค่อยข้างมีปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันระบายอยู่ที่ 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาจะได้รับผลกระทบ โดยจะพยายามระบายน้ำท้ายเขื่อนไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมคาดการณ์ช่วง 2 - 3 วันนี้มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำจะเพิ่มเติมอีก เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางจนเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทั้งนี้ สทนช. ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน ควบคู่กับเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่าน้ำที่เก็บกักจะสำรองไว้ใช้อุปโภค - บริโภค ไม่สนับสนุนการทำนาปีต่อเนื่อง แต่กำหนดมาตรการเสริมเมนูอาชีพให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรแทน เพื่อให้น้ำต้นทุนมีเพียงพอใช้ถึงปีหน้า

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพื่อติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากตอนบนไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคัน บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนอย่างเป็นเอกภาพ และช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที รวมทั้ง จะหารือกับเกษตรกรในภาคกลางที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้วเพื่อใช้พื้นที่นารองรับน้ำฝนในปริมาณที่เหมาะสมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ แล้วจะนำอาชีพเสริมช่วงน้ำหลากให้กับประชาชนสร้างรายได้เสริมต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.