• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักต่อเนื่องถึง 7 ต.ค.นี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากหลายพื้นที่

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ตุลาคมนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากหลายพื้นที่ ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,479 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยคาดการณ์ถึงวันที่ 7 ตุลาคมไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้ต้องระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีน้ำมาก 8 แห่ง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก กิ่วลม ห้วยหลวง ลำปาว หนองหาร น้ำพุง และอุบลรัตน์ จึงขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน รวมทั้ง ระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 3 วันนี้บริเวณจ.เชียงใหม่ ตาก ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด พังงา และนราธิวาส ขณะที่สถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ (5 ต.ค.66) ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,479 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวานระบายน้ำอยู่ที่ 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ

สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนรวม 4 จังหวัด 15 อำเภอ 66 ตำบล 379 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,209 ครัวเรือน คือ จ.ตาก น้ำท่วมใน อ.สามเงา และบ้านตาก // กาฬสินธุ์ น้ำเอ่อล้นจากเขื่อนลำปาวใน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก // อุบลราชธานี น้ำท่วมใน อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล ตาลสุม เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง // ตราด น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บ่อไร่ ภาพรวมในทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 17 จังหวัด ใน 396,726 ไร่ คือ ลำพูน สุโขทัย ตาก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.