• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 กรกฎาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานรำลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติปกป้องผืนป่าของประเทศ เนื่องในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) โดยประเทศไทยสูญเสียเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไปแล้ว 199 ราย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการเปิดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า เป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยปกป้องผืนป่าจากผู้กระทำผิดกฎหมาย ช่วยเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์เพื่องานวิจัยทำให้ป่าคงสภาพอุดมสมบูรณ์ และทำหน้าที่รักษากฎหมายและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองของประเทศที่ปฏิบัติงานตามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน พื้นที่ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิทักษ์ป่ารวม 26,400 คน แบ่งเป็น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 20,275 คน // กรมป่าไม้ 5,737 คน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 388 คน ที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ประสบอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน 444 คน พบมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 199 ราย และเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 245 คน รวมเป็นเงินช่วยเหลือกว่า 11 .68 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ผ่านมากระทรวงทรัพย์ฯได้นำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) เข้ามาใช้มีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลและเทคโนโลยีดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความภูมิใจในหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการลาดตระเวน คือ เพื่อให้สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์รอดพ้นจากความโลภและความไม่ใส่ใจของมนุษย์ที่ยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคม รวมทั้ง ให้สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ทำหน้าที่ดำรงรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้สังคมโดยรวมตลอดไป

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้การดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการและการสนับสนุนยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมให้หน่วยงานในสังกัดทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ให้ดีที่สุด และสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยปฏิบัติงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปะทะกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควบคู่กับเร่งผลักดันการปรับฐานเงินเดือนค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 9,000 บาทต่อเดือน เป็น 11,000 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 กรกฎาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและรอยต่อกรุงเทพมหานครช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะระบบระบายน้ำให้เชื่อมต่อกัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเร็วขึ้น

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากช่วงฤดูฝนแต่ละปีมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย จากฝนที่ตกในพื้นที่ แผ่นดินทรุด และน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและเส้นทางคมนาคมหลัก พบจุดเชื่อมต่อการระบายน้ำต่างๆยังทำได้ไม่ดีหากมีปริมาณฝนตกมาก ดังนั้น สทนช.จะเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำของ จ.สมุทรปราการ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น ซี่งที่ผ่านมาในพื้นที่นี้ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เช่น ชุมชนย่านแบริ่ง ถ.ศรีนครินทร์ เบื้องต้นให้กรมชลประทานและจังหวัดร่วมกันพิจารณาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองสำโรงให้การระบายน้ำเร็วขึ้น โดยยังมีสถานีสูบน้ำคลองสำโรงที่รับน้ำจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาพรวมมีเครื่องสูบน้ำอยู่ 25 เครื่อง และมีประสิทธิภาพใช้งานได้ทั้งหมด

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า ขณะนี้ระบบระบายน้ำใน จ.สมุทรปราการ ทั้งจุดสถานีคลองสำโรง คลองมหาวงศ์ และคลองพระองค์ไชยานุชิต พบมีความพร้อมเรื่องเครื่องจักร-เครื่องมือเพื่อเร่งระบายน้ำ หากเกิดมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่ยังมีหลายจุดที่ยังเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดย สทนช. เร่งพิจารณาแผนงานโครงการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนงานที่ดำเนินการได้ทันที พร้อมพิจารณาแนวทางทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การขยายคลองมหาวงศ์ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองสำโรง เพื่อระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้ทันที หากแนวทางการขยายคลองเดิมมีข้อจำกัด อาจจะพิจารณาเป็นการวางท่อเชื่อมต่อเพื่อระบายน้ำแทน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือฝนต่อเนื่อง หลังคาดการณ์ประเทศไทยมีโอกาสเกิดพายุอีก 1-2 ลูก

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และพระนครศรีอยุธยา ส่วนปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศอยู่ที่ 640 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ทำให้สถานการณ์น้ำน้อยยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 19 แล้วปริมาณฝนช่วงฤดูฝนของปีนี้ต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน ส่งผลให้ กอนช. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือฤดูฝนปีนี้ หลังคาดการณ์มีโอกาสที่พายุจะเข้าประเทศไทยได้ 1 - 2 ลูก ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่างๆ เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ กำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ ควบคู่กับเตรียมกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยให้ได้มากที่สุด และวางแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรช่วงฤดูฝนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมรับมืออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทานเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณฝายป้อหลวงฮ้อนและบ้านห้วยต้นผึ้ง ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณชุมชนดอนงิ้ว ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 23 จังหวัดถึงวันที่ 2 สิงหาคมนี้ หลังเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ของประเทศ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออก เฉียงเหนือด้านตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนัก บริเวณ จ.ระนอง นครพนม จันทบุรี กาญจนบุรี ตาก และพระนครศรีอยุธยา พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 2 สิงหาคมในภาคเหนือ บริเวณ จ.ตาก และอุทัยธานี // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด // ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด โดย กรุงเทพมหานคร เร่งจัดเก็บขยะและวัชพืชในคลองมหาศรจากคลองบางไผ่ถึงคลองภาษีเจริญ ความกว้างประมาณ 5 - 10 เมตร ความยาวประมาณ 6,371 เมตร เพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำจากคลองสายหลักในพื้นที่ เช่น คลองบางไผ่ คลองราษฎร์สามัคคี และรับน้ำจาก คู คลอง ซอย ถนน และชุมชนในพื้นที่เขตหนองเเขมระบายน้ำออกสู่คลองภาษีเจริญต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ฝนตกมากช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคมนี้ โดยประเทศไทยมีโอกาสจะมีพายุเข้ามาอีกประมาณ 1 - 2 ลูก จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนจัดการน้ำรับมือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก จ.บึงกาฬ ระนอง ลำปาง ตราด กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดย กอนช.ได้ติดตามแผนที่อากาศพบร่องความกดอากาศหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะมีอิทธิพลทำให้เกิดฝนตกในประเทศไทย ปัจจุบันขยับขึ้นไปอยู่บริเวณเหนือประเทศไทย ส่งผลให้ช่วงนี้ถึงวันที่ 28 กรกฎาคมจะมีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา จากนั้นฝนจะเริ่มกลับมาตกมากขึ้นช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม พร้อมคาดการณ์ประเทศไทยยังมีโอกาสจะมีพายุเข้ามาอีกประมาณ 1 - 2 ลูก จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด ควบคู่กับซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่างๆ เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ กำจัดผักตบชวา และสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 16 - 22 กรกฎาคมที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศ 640 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และปริมาณฝนสะสมภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 19 ส่งผลให้ไทยยังคงประสบปัญหาฝนตกน้อยและ ขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ภาคกลาง ขณะที่บางพื้นที่มีฝนตกมากโดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยบางแห่ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 กรกฎาคม 2566

สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ระบุ การออกดอกพร้อมกันของต้นลานจำนวนมากในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ พร้อมเตรียมเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะให้กระจายจากต้นแม่ เพื่อลดการผสมพันธุ์แบบพันธุกรรมขึ้น

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีต้นลานในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่กำลังออกดอกพร้อมกันกว่า 10,000 ต้น และกำลังจะตายว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เพราะต้นลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพืชในวงศ์ปาล์มชนิดหนึ่ง หรือเป็นชนิด “ลานป่า” ตามธรรมชาติต้นลานจะมีอายุประมาณ 20 - 80 ปี ออกดอกและติดผลเพียงครั้งเดียวก่อนยืนต้นตาย โดยเป็นพืชที่มีช่อดอกขนาดใหญ่ที่สุดของพืชในโลก สามารถติดผลได้มากกว่า 1,000 – 10,000 ผลต่อช่อดอกต่อ 1 ต้น โดยเมล็ดลานมีอัตราการงอกสูงมากเมื่อร่วงหล่นตามพื้นดินที่เหมาะสม มีช่องแสงสว่างเพียงพอ หรือมีสัตว์ป่า เช่น นก ค้างคาว กวางกินผลแล้วพาไปงอกไกลต้นแม่ จึงทำให้เมล็ดลานจากต้นแม่ 1 ต้น อาจจะงอกเป็นต้นกล้าในรุ่นถัดไปได้มากกว่า 1,000 ต้น ดังนั้น สาเหตุหลักการตายของต้นลานจำนวนมากในพื้นที่เกิดขึ้นจากการหมดอายุขัยและลักษณะการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของต้นลานเอง ประกอบกับ การเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญปีนี้จนเกิดความแห้งแล้งผิดปกติ ส่งผลให้ต้นลานที่มีอายุมากใกล้หมดอายุขัยและไม่สมบูรณ์เร่งการออกดอกมากขึ้น

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวควรเก็บเมล็ดของต้นลานมาเพาะต้นกล้า หรือนำเมล็ดบางส่วนเข้าไปหว่านในป่าที่ต้นลานเคยขึ้นอยู่ให้กระจายออกไปไกลจากต้นแม่เก่า เพื่อช่วยลดการตายจากต้นกล้าที่ขึ้นเบียดเสียดกันมากเกินไปบริเวณใต้ต้นแม่ ขณะเดียวกันทุกปีที่มีต้นลานติดผลต้องช่วยกระจายเมล็ดให้ไกลออกไปจากต้นแม่เดิมเพื่อไปผสมกับต้นลานกออื่นๆลดโอกาสการผสมพันธุ์แบบพันธุกรรมใกล้ชิด และป้องกันการยืนต้นตายแบบผืนใหญ่ต่อเนื่องกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 กรกฎาคม 2566

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในงานเสวนา "การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน" ว่า แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งเอลนีโญและลานีญา ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยทั้งภัยแล้งและอุทกภัย แม้ว่าจะมีสิ่งก่อสร้างรองรับไว้จำนวนมากแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือรับมือได้ แต่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการเรียนรู้เรื่องภูมิสังคมและชุมชนต่างๆต้องมีความเข้มแข็ง เช่น การสร้างผังน้ำชุมชน 23 ลุ่มน้ำ คาดจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2567 พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้าไปบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญพบไทยมีความเสี่ยงในอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีโอกาสเกิดน้ำทะเลหนุนสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต แล้งยังส่งผลให้อุณหภูมิไทยปีนี้สูงขึ้นจนสัมผัสได้และพฤติกรรมของฝนเปลี่ยนแปลงไป โดยฝนตกปริมาณมากๆในช่วงเวลาสั้นๆมากขึ้นในเขตเมือง ส่งผลให้ระบบระบายน้ำที่เคยออกแบบไว้ไม่รองรับจนเกิดปัญหาน้ำรอการระบายหรือน้ำท่วมขังช่วงระยะสั้นๆ สำหรับปีนี้ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงและอากาศร้อนจัด ซึ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงปัจจุบันพบฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ร้อยละ 24 ถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 40 จึงต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำปีนี้ให้สมดุล ควบคู่กับติดตามอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เริ่มร้อนขึ้น ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอนโซ่เข้าสู่เอลนีโญมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่มีโอกาสเกิดสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 - 90 โดยเบื้องต้นประเมินสถานการณ์ไปถึงเดือนเมษายน 2567 มีโอกาสเกิดสูงถึงร้อยละ 80 - 90 เช่นกัน ดังนั้น คาดการณ์ปริมาณฝนหน้าแล้งปีหน้าช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 1 เมษายน 2567 จะน้อยกว่าปีนี้แน่นอน จึงจำเป็นต้องมีปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศให้มากที่สุดเพื่อบริหารความเสี่ยงหากเอลนีโญเกิดยาวนานถึงปี 2568

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า เอลนีโญยังกระทบต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุจรน้อยลง แต่พายุกลับมีความรุนแรงมากขึ้น อย่างพายุตาลิม สทนช.คาดการณ์จะได้รับปริมาณน้ำฝนมาช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนในแหล่งต่างๆที่มีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ได้เพียง 600 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ส่วนช่วงนี้จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยช่วยให้มีปริมาณน้ำมากขึ้น ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่หรือเขื่อนหลักช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน ควรต้องมีน้ำกักเก็บอย่างน้อยให้ได้ร้อยละ 80 หรือต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 กรกฎาคม 2566

ที่มา: https://www.observerbd.com/details.php?id=429519#

การทำฟาร์มคาร์บอนเป็นการปฏิบัติที่เน้นการควบคุมกระบวนการทางธรรมชาติของพืชและดินเพื่อแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยแนวปฏิบัติด้านการจัดการที่ดินเชิงกลยุทธ์ซึ่งสามารถดักจับและกักเก็บคาร์บอนจำนวนมากได้ ในขณะเดียวกันก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจได้

การทำฟาร์มคาร์บอนมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติในการจัดการฟาร์มที่มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาสภาพอากาศในภาคการเกษตร สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการจัดการทั้งที่ดินและปศุสัตว์ รวมถึงแหล่งรวมคาร์บอนทั้งหมดในดิน วัสดุ และพืชพรรณ และฟลักซ์ของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์การหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษ และการลดการปล่อยก๊าซ โดยระบบการทำฟาร์มทั้งหมดสามารถบรรเทาได้ แม้ว่าระดับของศักยภาพการลดผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามประเภทฟาร์มและภูมิภาคต่าง ๆ

หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดของการทำฟาร์มคาร์บอน คือ ความหลากหลาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นวิธีการได้เพื่อให้เหมาะกับบริบททางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และสังคมโดยเฉพาะ แนวปฏิบัติเหล่านี้รวมถึงวนเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การทำไร่แบบไม่ไถพรวน และการปลูกพืชยืนต้นผสมผสาน เป็นต้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.