• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ ตราด นราธิวาส กรุงเทพมหานคร เชียงราย และกาญจนบุรี ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนที่มีแนวโน้มจะแรงขึ้นช่วงปลายปี ก่อนจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 จึงกำชับให้เดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัดและมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ คือ จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด // ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยจะดำเนินการควบคู่กับ 12 มาตรการเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญให้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ในส่วนของกรมชลประทานยังคงเร่งกำจัดวัชพืชในคลองหกสายล่างบริเวณพื้นที่ ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก

ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้ สทนช. ภาค 1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ประเมินไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงและวางแผนป้องกันปัญหาเร่งด่วนหากมีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น พื้นที่ ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย พบเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานอยู่ช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด คือ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ซึ่งพืชอยู่ช่วงระยะมีความต้องการน้ำมาก ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ทั้งบึงสวย หนองยาง หนองกระเบื้อง หนองปลิง และหนองนาคมีปริมาณน้ำน้อยอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่า อีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่จะเกิดความเสียหายต่อพืชได้ สำหรับแผนการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริเวณหนองปลิง รวมถึง การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ จากการประเมินเบื้องต้นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 สิงหาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุ ประเทศไทยมีน้ำใช้การอยู่ที่ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบมีอ่างเก็บน้ำมีน้ำน้อย 8 แห่ง พร้อมคาดการณ์จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 3 จังหวัด รวม 12 อำเภอ

นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศ พบช่วงวันที่ 9 – 15 สิงหาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศมีน้ำจากฝนตกไหลเข้าสะสมประมาณ 991 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือสูงสุดบริเวณเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้ประเทศมีน้ำใช้การอยู่ที่ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมีปริมาณน้ำน้อย 8 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก บึงบอระเพ็ด เขื่อนจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงวันที่ 28 – 29 สิงหาคมนี้ จะมีฝนตกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันออกในจังหวัดจันทบุรีและตราดจะมีฝนตกต่อเนื่องอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ เบื้องต้นคาดการณ์จะมีพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัด รวม 12 อำเภอ คือ จันทบุรี บริเวณขลุง ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ เมืองจันทบุรี มะขาม แก่งหางแมว // ระยอง บริเวณเขาชะเมา // ตราด บริเวณเกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ เมืองตราด เขาสมิง ทำให้ต้องกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงและความปลอดภัยของแนวพนังกั้นน้ำ ระบบการระบายน้ำ การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการเร่งกักเก็บน้ำ

ขณะที่สถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มต่อเนื่องถึงปีหน้า กอนช.จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมจาก 12 มาตรการรับมือฤดูฝนเดิม 3 มาตรการ ทั้งการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญในพื้นที่ต่างๆเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก // การควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย ขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำด้านอุปโภค-บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยารับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี ระยอง และนราธิวาส โดยให้ สทนช. เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 41,789 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 34,548 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 10,258 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 14,613 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ มีเกษตรกรทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ หรือร้อยละ 85 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 980,000 ไร่ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ หรือร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 960,000 ไร่ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 มีปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 21 จังหวัด ถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรับมือฝน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ตราด อุบลราชธานี และระนอง โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ในพื้นที่ 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย 12 นาย ร่วมกับ กรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดงเร่งแก้ปัญหาถนนทรุดตัวที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดดินสไลด์ทับท่อระบายน้ำ ด้วยการทำการติดตั้งแบบเทลีนท่อระบายน้ำ พร้อมวางท่อระบายน้ำ 15 ท่อนทั้ง 2 ฝั่งถนน บริเวณเส้นทาง บ.หนองบัว - บ.หัวฝาย อ.แม่สอด จ.ตาก ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมรับมือฝนปีนี้ตาม 12 มาตรการ โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย พร้อมตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบควบคุมการเปิด-ปิดบานระบายและการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ ส่วนโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองและโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มีโครงข่ายระบบชลประทาน 13 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ รวมทั้ง แก้มลิงและอาคารประกอบ 20 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยใจังหวัดหนองคายและอุดรธานี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ แล้วยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน รวม 37 ตำบล 7 อำเภอในหนองคายและอุดรธานี โดยมีครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน ที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 สิงหาคม 2566

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2717828

ประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ถูกจัดให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับขยะพลาสติกในทะเลที่มีจำนวนมหาศาล เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกมากขึ้น

  รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2561 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการพลาสติก ก่อนร่างโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ

  ปัจจุบันนี้ พบว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชนเองมีความตื่นตัวในเรื่องของการจัดการขยะที่ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติก เนื่องจากปัญหา “โลกร้อน” ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าหนึ่งในต้นตอของ “โลกร้อน” ก็มาจากปัญหาขยะ ทั้งการลดการใช้พลาสติก ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ หรือการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 สิงหาคม 2566

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (19 สิงหาคม 2566) พล.ต.ท.ประพันธ์ จันทร์เอม ผอ.อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เป็นประธานเปิดโครงการ Family 3S Plus “Smart Save and Chare” ครอบครัวสร้างสรรค์แบ่งปันสังคม พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายจาก 6 องค์กร สมาชิกจา 15 ครอบครัว จำนวน 52 คน จาก 7 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

พล.ต.ท.ประพันธ์ จันทร์เอม ผอ.อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้มีครอบครัวที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 15 ครอบครัว รวม 52 คน จาก 7 จังหวัด เพื่อเรียนรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ เรียนรู้ประโยชน์จากการใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานในครอบครัว โดยหวังจะได้นำความรู้ที่ได้รับนำไปประยุกต์ใช้และร่วมเผยแพร่ให้แก่ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้กันต่อไป

สำหรับฐานการเรียนรู้ในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมให้ทุกครอบครัวได้ร่วมลงมือทำ ประกอบไปด้วย การทำเตาประหยัดพลังงาน เรียนรู้การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การทำปุ๋ยหมักจกเศษอาหารช่วยลดชยะในครัวเรือนส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัว สำหรับโครงการ Family 3S Plus “Smart Save and Chare” ครอบครัวสร้างสรรค์แบ่งปันสังคม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เกิดขึ้นได้ด้วยความตั้งใจและการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ จาก 6 องค์กร ได้แก่ ธนาคารออมสิน บมจ.เอสซีจีแพคเกจจิ้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิอิออนประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวงและบ.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จก.เพื่อสร้างโอกาสให้ครอบครัวที่เป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญของสังคมและประเทศได้นำความรู้ที่ได้รับไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนได้ต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 สิงหาคม 2566

คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ เห็นชอบผลการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ในพื้นที่จังหวัดกลุ่มที่ 4 จำนวน 9 จังหวัด

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ครั้งที่ 1 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ในพื้นที่จังหวัดกลุ่มที่ 4 จำนวน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ สกลนคร ยโสธร บึงกาฬ หนองคาย และนครพนม รวมเนื้อที่ 13.9 ล้านไร่ รวมทั้ง ได้รับทราบการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ตามผลการตรวจสอบเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่สำรวจเมื่อปี 2543 และเห็นชอบแนวทางการลดขั้นตอนการปรับปรุงแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานการจัดทำระวางแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ และพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) เมื่อดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) แล้วเสร็จ ประชาชนจะได้ทราบถึงขอบเขตที่ดินของรัฐที่ชัดเจนและตรวจสอบได้สะดวก ส่งผลให้การทำประโยชน์ในที่ดินหรือการใช้ที่ดินได้อย่างถูกต้อง โดยไม่รุกล้ำที่ดินของรัฐ ทำให้มีคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมดีขึ้น ที่สำคัญช่วยลดปัญหาข้อพิพาทหรือความขัดแย้งเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ One Map จะไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่เป็นการให้โอกาสประชาชนพิสูจน์สิทธิ์เป็นพื้นฐานให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 สิงหาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบได้กว่า 4,500 กิโลกรัม ต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้อย่างยั่งยืน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดให้มีพิธีส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อเป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สร้างประโยชน์ต่อชุมชน ควบคู่กับการรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงฯ และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี ณ ห้องแถลงข่าว 101 ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ GC ได้ร่วมดำเนินการพัฒนาการก่อสร้างถนนทางเดินอัพไซเคิล และท่าน้ำอัพไซเคิลจากพลาสติกใช้แล้ว บริเวณพื้นที่รอบสระน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมระยะทาง 320 เมตร ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกไปสู่หลุมฝังกลบมากกว่า 4,500 กิโลกรัม พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 4,700 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 495 ต้น นับเป็นโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล ที่ได้รับฟังความคิดเห็น การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงระบบนิเวศและการใช้งานอย่างสมดุล โดยยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติที่หลากหลาย สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ที่คงไว้ซึ่งความสมดุลของธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

“โครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะส่งเสริมให้สังคมได้เห็นถึงประโยชน์ของการหมุนเวียนทรัพยากร ผ่านการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่า และสร้างประโยชน์ ให้ “พลาสติกเทิร์นเมือง” เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ส่งต่อสู่การอัพไซเคิล ถือเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรแบบ Closed loop ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่อยอดสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนให้กับทุกคน” นายวราวุธ กล่าว

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการสร้าง “ถนนอัพไซเคิล” และ “แผ่นทางเดินอัพไซเคิล” เพื่อสร้างให้เกิดสาธารณ ประโยชน์กับประชาชน และชุมชน นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วผ่านกระบวนการอัพไซเคิลในบริเวณพื้นที่โดยรอบสระน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา GC ได้ริเริ่มและพัฒนา “GC YOU เทิร์น” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเก็บ คัดแยก และนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล ได้ออกมาเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า

สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมถึงการรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ โดย GC ได้พัฒนาและส่งมอบ “ถนนอัพไซเคิล” ผลิตจากยางมะตอยผสมพลาสติกใช้แล้วประเภทฟิล์ม LDPE และ LLDPE ที่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล โดยผ่านการวิจัยและพัฒนา ทำให้มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นเหมือนถนนลาดยางมะตอยทั่วไป “แผ่นทางเดินและท่าน้ำอัพไซเคิล” ผลิตจากพลาสติกใช้แล้ว ประเภทฟิล์มหลายชั้น (Multilayer) และฟิล์ม LDPE ที่มีความยากต่อการนำมารีไซเคิล โดยนำกลับมาหลอมและอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นทางเดินที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าอิฐที่ผลิตจากทรายและปูน การดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลดีให้กับโลกใบนี้ของพวกเราอย่างแท้จริง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.