• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการเกษตร ณ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77

สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  2 ธันวาคม 2566

ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 หมู่ 10 ต.ดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการเกษตร พร้อมมอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพบปะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชื่นชมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง BK77 จากผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรในกลุ่ม แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยผลผลิตมีมาตรฐานในระดับจำหน่ายร้านสะดวกซื้อ และส่งออกต่างประเทศ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาประชาชน โดยเฉพาะวันนี้เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานรากประชาชนอยู่ดีกินดี ประชาชนต้องไม่มีความยากจน ความยากจนต้องพ้นไปจากประเทศไทยให้ได้ นี่เป็นแนวความคิดกรอบใหญ่ของรัฐบาล ทีนี้จะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรีดำริให้ ครม.ทุกคนลงไปพื้นที่ในกลุ่มคลัสเตอร์ที่จะมีการประชุม ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดอุดรธานี, เลย, หนองบัวลำภู, หนองคาย หรือบึงกาฬ วันนี้ผมอยู่ที่บึงกาฬ ก็เป็นจังหวัดที่เพิ่งตั้งมาประมาณ 13 ปี ได้เห็นการพัฒนาการหลายๆ อย่าง ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน, แหล่งท่องเที่ยว, ความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องลงมาติดตามก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนฐานรากที่ยังมีปัญหาอยู่เรื่องของรายได้ เราก็มีการมอบนโยบายให้หน่วยงานของรัฐช่วยกันลงมาดูเป็นพี่เลี้ยงในการแก้ไขปัญหากับประชาชน เราก็จะลงมาในลักษณะพุ่งเป้า ทำอย่างไรให้ปัญหาเรื่องความยากจนพ้นไปโดยเร็ววัน โดยเฉพาะวันนี้เรามาดูส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

โดยประชาชนได้ตั้งเป็นวิสาหกิจปลูกกล้วยหอมนำไปจำหน่ายในตลาด เราก็มาดูเป็นพี่เลี้ยงและให้กำลังใจ แต่เห็นแล้วก็ชื่นใจเพราะว่า คนที่เป็นวิสาหกิจร่วมกันก็มีข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดต่าง ๆ ทั้งการ MOU กับวิสาหกิจอื่น ๆ เป็นช่องทางตลาด และขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาพันธุ์ต่างๆ ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีความสมบูรณ์มากขึ้นก็จะนำไปสู่การเป็นผลไม้ที่ออกสู่ตลาดได้ และมีรายได้เข้าสู่ครอบครัว จึงเป็นทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.