• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 มีนาคม 2566

ประเทศไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเน้นความสำคัญการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ในเวทีการประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ“น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำ ได้ร่วมประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2 (UN 2023 Water Conference) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤติน้ำทั่วโลกและตัดสินใจดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ตกลงกันในระดับสากล พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ และผลักดันประเด็นด้านน้ำของโลกไปสู่การบรรลุทศวรรษแห่งการดำเนินงานด้านน้ำ (Water Action Decade) โดยประเทศไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทยเน้นความสำคัญการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมถึง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยืดหยุ่นรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำต่างๆ ทั้งนี้ ยังได้เน้นให้เร่งผลักดันขับเคลื่อนการปฏิบัติการด้านน้ำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2030 เช่น การลดช่องว่างทางการเงินสำหรับการพัฒนาและลงทุนด้านน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในระดับประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คำนึงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้ง เร่งเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านน้ำผ่านการยกระดับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าน้ำให้กับเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ร่วมสนับสนุนผ่านถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ สำหรับการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านน้ำของสหประชาชาติ (UN Special Envoy on Water) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับนโยบายด้านน้ำให้เป็นรูปธรรม และสามารถบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลภายในปี 2030 ส่วนการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้องไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมพร้อมนำเสนอถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการที่ดีด้วย สำหรับการประชุมครั้งนี้เน้น 5 สาระสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายและตัวชี้วัดของ SDG 6 คือ ให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ประกอบด้วย น้ำเพื่อสุขภาพ // น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน // น้ำเพื่อสภาพภูมิอากาศ // น้ำเพื่อความยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อม // น้ำเพื่อความร่วมมือและทศวรรษของการปฏิบัติการด้านน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาหากเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จขอให้งดปลูกข่าวนาปรังรอบ 2

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (26 มี.ค.66) ว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครราชสีมา , เชียงใหม่ และสตูล สำหรับสภาพอากาศถึงวันที่ 29 มีนาคม บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึง อาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ด้านภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับหน้าแล้งอย่างเคร่งครัด เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้นำกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน 4 นาย , กำลังพลชุดเคลื่อนที่เร็ว 4 นาย , รถประปาสนามเคลื่อนที่ 1 คัน , รถบรรทุกน้ำขนาด 9,000 ลิตร 1 คัน และ รถบรรทุกขนาดเล็ก 1 คัน ดำเนินการแจกจ่ายน้ำบริโภค 6,000 ลิตร และน้ำอุปโภค 2 เที่ยว ปริมาณน้ำ 18,000 ลิตร ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง บริเวณบ้านดงยาง ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร // กรมชลประทาน ได้จัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังช่วงหน้าแล้ง ปี 65/66 ทั่วประเทศแล้ว 19,682 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,113 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ 9.96 ล้านไร่ หรือร้อยละ 96 ของแผนฯ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 6.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 95 ของแผนฯ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ 2) เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำหน้าแล้ง และรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 มีนาคม 2566

ภาคเหนือ ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังวิกฤติ โดยเฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่อยู่ในระดับสีแดง พบสูงสุดบริเวณ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถึง 351 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งและกลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (25 มี.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังปรับตัวสูงขึ้น เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 9 พื้นที่ และสีแดง 14 พื้นที่ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ลำปาง ลำพูน พะเยา และเชียงใหม่ อยู่ที่ 91 – 351 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบสูงสุดบริเวณ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพราะยังพบการเผาในเขตป่า ผลกระทบจุดความร้อน (Hotspot) จากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้เฝ้าระวังอาการผิดปกติ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเฝ้าระวังพิเศษวันที่ 26 – 29 มีนาคม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน พบเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 5 พื้นที่ และสีแดง 3 พื้นที่ บริเวณ จ. หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม อยู่ที่ 109 - 139 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากทุกพื้นที่ จากสภาพอากาศเปิดและมีลมพัด ยกเว้นบริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม อยู่ที่ 52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะสภาพการจราจรค่อนข้างหนาแน่นและมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.66) มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับ ลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 มีนาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทาน จัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงแล้งปีนี้ ทั่วประเทศไปแล้ว 19,682 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผน จนถึงขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศไปแล้วกว่า 9 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 10 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว 2 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งนี้ เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ กรมชลประทาน ขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จ ให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง(นาปรัง 2) เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำช่วงแล้ง และเพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดด้ว และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยัง เกษตร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ทุกกิจกรรมตลอดในช่วงแล้งนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังเกิดฝนตกในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำเร่งสูบน้ำเติมแหล่งน้ำดิบระบบประปาหมู่บ้านในจังหวัดนครสวรรค์

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 มี.ค.66) ว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับ ลมตะวันตกปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.ยะลา , ราชบุรี และกาญจนบุรี ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับหน้าแล้งอย่างเคร่งครัด เช่น กรมทรัพยากรน้ำ และเทศบาลตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ ร่วมกันติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำเติมแหล่งน้ำดิบระบบประปาหมู่บ้าน บริเวณคลองแม่วงก์ บ้านศาลเจ้าไก่ต่อ ต.ศาลเจ้าไก่ต่อ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค และรองรับภัยแล้ง มีประชาชนได้รับประโยชน์ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 , 3 และ 4 จำนวน 1,000 ครัวเรือน รวม 3,200 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 มีนาคม 2566

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้มีการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2528 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนของทุกปี ในบางส่วนของพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดตรัง ควบคู่ไปกับการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับสภาวะของทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน

ผลการศึกษาทางวิชาการในช่วงการประกาศใช้มาตรการฯ ปี 2565 พบว่าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด มีความสมบูรณ์เพศสูง โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนพบสัตว์น้ำวัยอ่อนมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 1,197 ตัว/1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการฯ ที่มีความหนาแน่นเพียง 470 ตัว/1,000 ลบ.ม. อีกทั้งข้อมูลขนาดสัตว์น้ำที่จับได้จากเครื่องมือประมงที่อนุญาตให้ใช้ในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ เช่น อวนกุ้งและอวนปู พบว่ามีขนาดเหมาะสม โดยมีขนาดความยาวมากกว่าความยาวแรกสืบพันธุ์ จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการที่ใช้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการทั้งในด้านพื้นที่และช่วงเวลาในมาตรการฯ ว่ามีความถูกต้องและเหมาะสมกับฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อคงความสมดุลทางธรรมชาติอีกด้วย

กรมประมง จึงประกาศใช้มาตรการ บริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามันประจำปี 2566 ในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดตรัง ตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายนนี้ ตามประกาศฯ และกำหนดชนิดของเครื่องมือประมง วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงประกาศใช้มาตรการ

กรมประมง ขอให้พี่น้องชาวประมงทุกคน ที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามกฎหมายในมาตรการปิดอ่าวทะเลอันดามัน มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนและเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังการเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับหน้าแล้งอย่างเคร่งครัด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (21 มี.ค.66) ว่า ประเทศไทยตอนบนอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เนื่องจากความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ทำให้ตอนบนของประเทศมีอากาศร้อน ประกอบกับ ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง จากอิทธิพลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.ตราด // กาญจนบุรี และเชียงราย ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับหน้าแล้งอย่างเคร่งครัด เช่น จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พร้อมรายงานผลต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อใช้วางแผนแก้ปัญหา // กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเตรียมแผนรับมือให้ทันต่อสถานการณ์ และกรมชลประทาน สำรวจ ซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำและอาคารประกอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อเตรียมแผนรับมือ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มีนาคม 2566

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวหลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม -137” สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และตรวจพบ ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ใน จ.ปราจีนบุรี จนทำให้ประชาชนกังวลจะเกิดอันตรายจากการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีว่า เป็นเหตุการณ์ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและทันที พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อว.ที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน และดูแลไม่ให้มีการปนเปื้อนของซีเซียมในสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ และมอบหมายให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตรวจสอบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีซีเซียมฯ ในสิ่งแวดล้อม ทุกจุดและทุกวงดังกล่าว ทั้งดิน น้ำ อากาศ และให้รายงานผลการตรวจในทันที พร้อมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยที่มีโรงเรียนแพทย์เข้าไปช่วยติดตามและดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่สำคัญ

กระทรวง อว. ยังได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม -137 ซึ่งพร้อมประสานข้อมูลและบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.