สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 1 ตุลาคม 2566
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าแผนรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด หลังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกระยะยาว และป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้า
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงวิกฤติโลกร้อนกับความท้าทายของประเทศไทยว่า หลังเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศยุคของภาวะโลกร้อน (global warming)ได้สิ้นสุดลงแล้ว จากนี้โลกเข้าได้สู่ยุคโลกเดือด (global boiling) ทำให้สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดทำรายงานความเสี่ยงโลกล่าสุดปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยความเสี่ยงคุกคามโลกในระยะยาว 10 ปี พบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกระยะยาว ทั้งปัญหาความล้มเหลวในการบรรเทาปัญหา Climate Change ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัญหาเกิดจากแรงขับเคลื่อนที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยปัญหาทั้งสองทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาของโลกทวีความเข้มงวดมากขึ้น และนำไปสู่สถานการณ์กีดกันทางการค้า (Non-tariff barriers) ที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทย ตั้งเป้าจะยกระดับและก้าวเข้าสู่สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี 2065 และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้วางแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กระจายรายได้ ควบคู่กับการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่สอดรับสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน