• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน จัดการจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี เร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 กันยายน 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตามแนวร่องมรสุมถึงวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณสถานีวัดน้ำ M7 ตรงสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอวารินชำราบ เพราะมีบางช่วงเป็นพื้นที่ฟันหลอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือจัดทำทำนบดินชั่วคราว นำกระสอบทรายมากั้นเป็นกำแพงป้องกันน้ำท่วม หลังคาดการณ์จะมีระดับน้ำสูงสุดวันที่ 30 กันยายนนี้ ย้ำว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หากนำมาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยังไม่น่าเป็นห่วง

กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง พร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันเฉียงเหนือ ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องวางแผน เร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วและลดผลกระทบต่อกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา มี 3 เขื่อนที่มีการกักเก็บน้ำต่ำกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา ดังนั้นฝนี่ตกลงมาในช่วงนี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้

สำหรับภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อน 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 435 แห่ง ปัจจุบันภาพรวมมีปริมาณน้ำ 49,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วยังมีปริมาณน้อยกว่า 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม อีกไม่ถึง 1 เดือนก็จะหมดฤดูฝน ขอให้ประชาชนกักเก็บน้ำไว้ใช้ รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกร งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอถึงช่วงหน้าแล้งปีหน้า


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.