• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ โดยคาดการณ์ช่วงวันที่ 11 –14 ตุลาคมประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-3 วันนี้ ในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู และอุดรธานี // ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และยะลา ขณะที่วันนี้ (10 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำจากตอนบนลงสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ลงสู่คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเร่งสูบระบายลงอ่าวไทย พร้อมตัดยอดน้ำบางส่วนออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองสำโรง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow เพิ่มอีก 7 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำปลายคลอง 20 ประตูระบายน้ำปลายคลอง 19 ประตูระบายน้ำบางขนาก และประตูระบายน้ำท่าถั่ว เพื่อเร่งสูบน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง ลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.