• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 ตุลาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเสี่ยงน้ำท่วม หลังพบใน 3 จังหวัดเกิดน้ำท่วมหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เนื่องจากหลายพื้นที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง คือ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย // องค์การบริหารส่วนตำบลโนนศิลาเลิง จังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร จังหวัดนครนายก โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ก่อสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำและติดตั้งตาข่ายดักขยะมูลฝอยเพื่อป้องกันขยะมูลฝอยไหลออกนอกพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภาพรวม ณ ปัจจุบันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของจังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยได้ตามปกติ แต่ในส่วนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของจังหวัดกาฬสินธุ์และนครนายกสถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัว จึงไม่สามารถดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งได้ประสานขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัดบริเวณสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ใกล้เคียง

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้ำว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของกาฬสินธุ์และนครนายก ควรบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามนโยบายการรวมกลุ่มพื้นที่ของจังหวัด ควบคู่กับส่งเสริมให้ชุมชน ภาคเอกชน สถานศึกษา และศาสนสถาน ดำเนินการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัด ทั้งนี้ คพ. จะติดตามเฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ โดยคาดการณ์ช่วงวันที่ 11 –14 ตุลาคมประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-3 วันนี้ ในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู และอุดรธานี // ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และยะลา ขณะที่วันนี้ (10 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำจากตอนบนลงสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ลงสู่คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเร่งสูบระบายลงอ่าวไทย พร้อมตัดยอดน้ำบางส่วนออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองสำโรง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow เพิ่มอีก 7 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำปลายคลอง 20 ประตูระบายน้ำปลายคลอง 19 ประตูระบายน้ำบางขนาก และประตูระบายน้ำท่าถั่ว เพื่อเร่งสูบน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง ลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาหลังใกล้แตะที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยคาดการณ์ช่วงวันที่ 10 –14 ตุลาคมประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำหลากดินถล่มและน้ำล้นตลิ่งถึงวันที่ 15 ตุลาคมในพื้นที่ 27 จังหวัด พร้อมระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณแม่น้ำมูล // แม่น้ำท่าจีน // แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาคาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ หากปริมาณน้ำตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เขื่อนเจ้าพระยาจะต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร

ปัจจุบัน ณ วันนี้ (9 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ โดยการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาใกล้แตะที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำเป็นพิเศษ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบริมน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำตอนบนของประเทศยังสูง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง หลังคาดการณ์จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก จะส่งผลให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำช่วงวันที่ 9 - 15 ตุลาคม โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เบื้องต้นกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1800 - 1900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาที่จะไหลมาสมทบประมาณ 200 - 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 350 - 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 20 - 80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือน 11 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 ตุลาคม 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งหน่วยข่าวกรองอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า (WCU) เพื่อลดอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในอนาคต

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปิดห้องปฏิบัติการ "หน่วยข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า หรือ WCU : Wildlife Crime Inteligence Unit" ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในประเทศไทย (CIWT – GEF6) , โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) , สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย พร้อมสนับสนุนซอฟแวร์ I2 และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งห้องปฏิบัติการนี้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการอำนวยความสะดวกการออกคำสั่งเชิงกลยุทธ์ และประสานการสื่อสาร ช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ซอฟแวร์ I2 ช่วยสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล การจัดการฐานข้อมูลอาชญากรรมสัตว์ป่า ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และสร้างการนำเสนอข้อมูลแบบรายงานการสืบสวนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งหมดในภารกิจการต่อสู้กับอาชญากรรมสัตว์ป่า ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯได้รับการฝึกอบรมการใช้โปรแกรม I2 จำนวน 80 นายกระจายปฏิบัติหน้าที่ตามพื้นที่คุ้มครองทั่วประเทศ โดยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้องปฏิบัติการ WCU จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องบัญชาการ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน พื้นที่ทำงานร่วม การวางแผนจัดสรรอุปกรณ์และควบคุมติดตามสถานการณ์เพื่อตอบสนองต่อสู้กับอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เพื่อจัดการเหตุการณ์และควบคุมการปฏิบัติการและรองรับการสืบสวนขยายผลอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ได้บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2562 ที่พัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน มีการเพิ่มบทกำหนดโทษในการครอบครอง ค้าขาย นำเข้า ส่งออก ซึ่งสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และอนุสัญญาด้านพืชป่าสัตว์ป่าต่างๆที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้าขาย นำเข้า และส่งออกสัตว์ป่าระหว่างประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 ตุลาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ขอให้ท้องถิ่นเฝ้าระวังน้ำท่วมระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน พบมีพื้นที่เสี่ยงท่วม 24 แห่ง โดยได้จัดทำแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบแล้ว

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จนเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ได้สำรวจระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนในประเทศมี 118 แห่ง พบมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ตั้งอยู่ในจังหวัดมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย 24 แห่ง คือ เทศบาลเมืองลำพูน , เทศบาลนครเชียงใหม่ , เทศบาลนครลำปาง , เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี , เทศบาลเมืองน่าน , เทศบาลเมืองตาก เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก , เทศบาลเมืองกำแพงเพชร , เทศบาลตำบลสลกบาตร จ.กำแพงเพชร , เทศบาลเมืองชัยภูมิ , เทศบาลนครนครราชสีมา , เทศบาลเมืองปากช่อง จ.นครราชสีมา , เทศบาลนครอุดรธานี , เทศบาลเมืองยโสธร , เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ , เทศบาลนครขอนแก่น , เทศบาลนครอุบลราชธานี , เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี , เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา , เทศบาลตำบลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา , เทศบาลเมืองกาญจนบุรี , เทศบาลเมืองบ้านหมี่ จ.ลพบุรี และเทศบาลนครยะลา (2 ระบบ) ขณะนี้ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้น คพ.ได้จัดทำแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยต่อระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ด้วยการจัดส่งให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ ที่ 1 - 16 เพื่อเป็นแนวทางให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ป้องกันและแก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์และให้ปรึกษาทางวิชาการ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ตุลาคมนี้ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากหลายพื้นที่ ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,479 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยคาดการณ์ถึงวันที่ 7 ตุลาคมไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้ต้องระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่มีน้ำมาก 8 แห่ง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก กิ่วลม ห้วยหลวง ลำปาว หนองหาร น้ำพุง และอุบลรัตน์ จึงขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน รวมทั้ง ระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1 - 3 วันนี้บริเวณจ.เชียงใหม่ ตาก ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด พังงา และนราธิวาส ขณะที่สถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ (5 ต.ค.66) ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,479 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวานระบายน้ำอยู่ที่ 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ

สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนรวม 4 จังหวัด 15 อำเภอ 66 ตำบล 379 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,209 ครัวเรือน คือ จ.ตาก น้ำท่วมใน อ.สามเงา และบ้านตาก // กาฬสินธุ์ น้ำเอ่อล้นจากเขื่อนลำปาวใน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก // อุบลราชธานี น้ำท่วมใน อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล ตาลสุม เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง // ตราด น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บ่อไร่ ภาพรวมในทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 17 จังหวัด ใน 396,726 ไร่ คือ ลำพูน สุโขทัย ตาก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 ตุลาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำรอบใหม่ หลังคาดการณ์จะมีฝนตกหนักในภาคกลางช่วง 2 - 3 วันนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วง 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำต่างๆมีน้ำสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น สุโขทัย พิจิตร แพร่ โดยปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศได้ไหลมารวมกันที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ของพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลเข้าไปกักเก็บในบึงบอระเพ็ดที่มีศักยภาพรองรับน้ำหลากหรือน้ำส่วนเกินได้จำนวนมาก ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาค่อยข้างมีปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันระบายอยู่ที่ 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาจะได้รับผลกระทบ โดยจะพยายามระบายน้ำท้ายเขื่อนไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมคาดการณ์ช่วง 2 - 3 วันนี้มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำจะเพิ่มเติมอีก เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางจนเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทั้งนี้ สทนช. ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน ควบคู่กับเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่าน้ำที่เก็บกักจะสำรองไว้ใช้อุปโภค - บริโภค ไม่สนับสนุนการทำนาปีต่อเนื่อง แต่กำหนดมาตรการเสริมเมนูอาชีพให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรแทน เพื่อให้น้ำต้นทุนมีเพียงพอใช้ถึงปีหน้า

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เพื่อติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากตอนบนไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคัน บริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนอย่างเป็นเอกภาพ และช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที รวมทั้ง จะหารือกับเกษตรกรในภาคกลางที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จแล้วเพื่อใช้พื้นที่นารองรับน้ำฝนในปริมาณที่เหมาะสมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ แล้วจะนำอาชีพเสริมช่วงน้ำหลากให้กับประชาชนสร้างรายได้เสริมต่อไป


  1. คพ. เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมและเสี่ยงน้ำท่วม เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  2. สคทช. และ GISTDA ร่วมกันจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ คทช. เพื่อเตรียมพร้อมให้เกษตรกรรับกฎหมายสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป
  3. ก.ทรัพย์ฯ เดินหน้าแผนรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด หลังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกระยะยาว และป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้า
  4. กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.