• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

พัชรวาท ยกระดับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก แก้ปมขยะทะเลไทย ย้ำรักษาบ้านพะยูนทุกมิติ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 กุมภาพันธ์ 2567

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8083106

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. พร้อมด้วย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ตลอดจนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันพิจารณาถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะทะเลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลแบบบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเร่งพิจารณา (ร่าง) แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2568) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการดำเนินอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนแหล่งที่อยู่อาศัยพะยูนในประเทศไทยให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งต้องถือว่า การดำเนินแผนงานดังกล่าวในระยะที่ 1 นั้น ผลออกมาเป็นที่น่ายินดีเพราะสามารถออกกฎกระทรวงประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เป็นพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งถือว่ามีสำคัญต่อการจัดการเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดการแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยต่อจำนวนพะยูน ซึ่งขอให้เรารักษาบ้านของพะยูน ในทุกมิติของการอนุรักษ์พะยูน เพื่อการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย

ด้าน ดร. ปิ่นสักก์ กล่าวว่า ผลการประชุม ครั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน 4 แผน ประกอบด้วย นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะทะเลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2568) และแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ. 2567 – 2576) พร้อมทั้งเห็นชอบการกำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ และเห็นชอบแผนที่ข้อมูลวิชาการของระบบกลุ่มหาดประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2567) เพิ่มเติมอีกจำนวน 21 กลุ่มหาด รวมปัจจุบัน 44 กลุ่มหาด ถือว่าเป็นการยกระดับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและการจัดการปัญหาขยะทะเลที่สำคัญของประเทศไทย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.