• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

เสี่ยงภัย…สูญพันธุ์

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 มกราคม 2567

ที่มา : Sarakadee (https://www.sarakadee.com/2024/01/11/on-the-edge-of-extinction/)

“คนมักคิดว่าสัตว์ป่าอันตรายทั้งที่มันก็หนีเราจนหัวซุกหัวซุนเหมือนกัน พอมนุษย์ไม่ยอมให้อยู่ ก็หาวิธีกำจัดมันออกจากธรรมชาติไปเอง”..วัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ เล่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ในธรรมชาติสูญพันธุ์..ในห้องโถงกว้างมีสัตว์นานาชนิดจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ NSMคลองห้า ปทุมธานี ในลักษณะขบวนพาเหรด ให้ความรู้สึกคล้ายผู้มาเยือนกำลังชมโชว์จากคณะละครสัตว์ ทว่าพวกมันปราศจากลมหายใจแล้ว จุดมุ่งหมายของนิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์” นี้แสดงให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ เล่าผ่านสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วและกำลังจะสูญพันธุ์ โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการจำแนกชนิดพันธุ์ จาก IUCN Red List Categories and Criteria ภายในห้องจัดแสดงแบ่งกลุ่มสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการเล่าเรื่องและเป็นการแสดงสถานภาพของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ไปในตัวว่าในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์แบบใด โดยแบ่งเป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา

ด้านหนึ่งของห้องปรากฏหุ่น “สมัน” ตัวสีขาวสง่าอยู่บนแท่นวางซึ่งมีระดับความสูงเหนือหัวมนุษย์ให้ต้องแหงนมอง ลำตัวของสมันประทับอักษรสีแดง ด้านหนึ่งเป็นคำว่า “สูญพันธุ์” อีกด้านคือ “Extinct” ตอกย้ำความหมายเดียวกัน แท่นสมันขนาดใหญ่กว่าหนึ่งคนโอบ ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับสมัน ตั้งแต่ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์จนไทมไลน์ของสมันตัวสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่บนโลก กระทั่ง 50 ปีต่อมาได้รับการยืนยันว่าสมันนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว สิ่งที่พิเศษของสมันจำลองนี้คือ “เขาจริงสีน้ำตาล” หลักฐานของสิ่งมีชีวิตก่อนสูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์..อีกสิ่งจัดแสดงน่าสนใจคือ “ปลาฉนาก” เด่นด้วยลักษณะตรงส่วนปากคล้ายเลื่อย ขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งในประเทศไทยเคยพบเจออยู่ 3 ชนิด ก่อนถูกบันทึกว่าสูญพันธุ์แล้วทั้งในไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นปลาน้ำตื้น อยู่ตามปากแม่น้ำ พอถึงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ ก็จะว่ายเข้ามาทางปากแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง ความที่ปากเป็นซี่แหลมทำให้ติดอวนของชาวบ้านโดยง่าย เป็นเหตุให้ถูกจับและนำไปตัดปากเพื่อใช้บูชาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์..กลุ่มข้างกันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “เต่า” สัตว์ผู้ถูกคุกคามอย่างหนัก จนหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์เต็มทีแล้ว อย่างเช่น เต่าดาวรัศมี ที่คนนิยมนำไปขาย หรือ “ตะพาบม่านลาย” ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ก็ถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยโดยสร้างเขื่อนที่กั้นขวางแม่น้ำแม่กลอง ทำให้หาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่บนบกหายไป จำนวนประชากรที่ลดน้อยในธรรมชาตินับวันยิ่งเสี่ยงสูญพันธุ์ในที่สุด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.