สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 10 ธันวาคม 2566
ประเทศไทย แสดงความก้าวหน้าการปรับตัวและมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างต่อเนื่องบนเวทีการประชุม COP 28 พร้อมผลักดันการปรับตัวในภาคเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาความมั่นคงทางอาหาร
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุม High-level Segment ภายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงว่าประเทศไทยและคนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น โดยยืนยันประเทศไทยได้ทำตามสิ่งที่ให้คำมั่นไว้อย่างแน่นอนและการเข้าร่วมประชุม COP 28 เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานในประเทศที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในปี 2030 ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ คาดว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปี 2025 โดยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีกลไกการเงินเหมาะสมและเข้าถึงได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวฯอีกด้วย และสุดท้าย ไทยกำลังผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว
สำหรับประเด็นการการเจรจาสำคัญบนเวที Cop 28 ยังได้การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2052 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ