• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลง หลังสถานการณ์ฝนตอนบนของประเทศเริ่มตกน้อยลง โดยเน้นเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้แล้งหน้าก่อนหมดฤดูฝน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลง หลังสถานการณ์ฝนตอนบนของประเทศเริ่มตกน้อยลง โดยเน้นเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้แล้งหน้าก่อนหมดฤดูฝน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบนของประเทศมีแนวโน้มเริ่มลดลงต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงพิจารณาปรับลดการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนลดลงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงแล้งหน้า พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในบึงบอระเพ็ดและพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างและเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้หน้าแล้ง ทำให้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,931 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที // เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้พิจารณารับน้ำเข้าระบบชลประทานและคลองสาขาต่างๆตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพื่อให้การระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วขึ้น ภาพรวมลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,147 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลปริมาณฝนลดลงช่วยให้สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย โดยบริเวณสถานีวัดน้ำแม่น้ำมูล M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,488 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้น้ำที่ท่วมขังบริเวณชุมนุมท่าก่อไผ่ อ.วารินชำราบ ลดลงเช่นกัน ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางสัญจรได้แล้ว แต่ยังคงพบน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่จะเร่งให้ความช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงเวลา ปริมาณน้ำในพื้นที่ ปริมาณน้ำจากทางเหนือ ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำหนุน พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรับส่งน้ำมีประสิทธิภาพสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำและให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่อง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.