• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบริมน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำตอนบนของประเทศยังสูง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบริมน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำตอนบนของประเทศยังสูง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง หลังคาดการณ์จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก จะส่งผลให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำช่วงวันที่ 9 - 15 ตุลาคม โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เบื้องต้นกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1800 - 1900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาที่จะไหลมาสมทบประมาณ 200 - 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 350 - 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 20 - 80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือน 11 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.