• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแนวป้องกันปริมาณน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่ประชาชนใน จ.นครปฐม เพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (1 พ.ย.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางป้องกันบรรเทาผลกระทบปริมาณน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่ประชาชนในพื้นที่ จ.นครปฐม เพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจ โดยระยะเร่งด่วนวางบิ๊กแบ็คปิดคลองบางแก้วเพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้าคลองบางแก้ว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากคลองบางแก้วลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการทันทีเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แล้วสามารถใช้เป็นทำนบชั่วคราวที่สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองบางแก้วที่จะต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ สทนช.ได้ให้กรมชลประทานพิจารณาปรับแผนเร่งก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองบางแก้วจากเดิมในปี 2567 ให้ดำเนินการได้ในปี 2566 ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว สทนช.จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนในลุ่มน้ำท่าจีนให้เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาแผนงานโครงการและรูปแบบการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ กอนช. ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ฝนต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.พัทลุง สตูล และยะลา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 44,224 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 ตุลาคม 2565

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ "นัลแก" ฉบับที่ 2 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้(31 ต.ค. 65) พายุโซนร้อนกำลังแรง "นัลแก" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.8 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกลัศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ พายุนี้มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2565 นี้ ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2565 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 ตุลาคม 2565

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำชับ ให้เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันตกลุ่มเจ้าพระยาให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว หลังเขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร เพื่อเร่งรัดแผนการระบายน้ำ การแก้ปัญหาอุปสรรค และจุดที่เป็นช่องโหว่ต่างๆให้การระบายน้ำที่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำคลองสระ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมชลประทาน // ตามแนวคลองพระยาบรรลือ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำปากคลองขุดใหม่ ประตูระบายน้ำลากฆ้อน และประตูระบายน้ำปากคลองขุนศรี อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึง ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสูบน้ำ บริเวรประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้ ยังได้ตรวจสอบการทำงานเครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ บริเวณสะพานพุทธมณฑลสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และขอให้กองทัพเรือเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบ แล้วกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 1,941 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมเร่งการระบายน้ำออกจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในห้วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด และระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่ง พร้อมได้รับน้ำเข้าทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำฝั่งตะวันตก เช่น ปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์สู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และรับน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วขึ้นด้วย

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อสูงขึ้น แม้ปริมาณน้ำที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาจะอยู่ในเกณฑ์ควบคุม แต่ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ประกอบกับ จังหวะน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นอาจจะส่งผลให้บางพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะจุดฟันหลอและพื้นที่นอกคันจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งป้องกันและลดกระทบแล้ว โดยจะไม่มีปริมาณฝนตกหนักเข้ามาเพิ่มน้ำในพื้นที่แน่นอน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากน้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 16 ชุมชน ในพื้นที่ 7 เขตของกรุงเทพมหานคร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (29 ต.ค.65) ว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงโดยวันที่ 29 - 31 ตุลาคมจะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของเดือนตุลาคม ภาพรวมน้ำทะเลหนุนสูงจะมีถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน เบื้องต้น สทนช. ได้ประสานกรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวขึ้นสูงได้จนกระทบชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในบางช่วงเวลาได้ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ จำเป็นต้องให้ติดตามและเฝ้าระวังการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเลอย่างใกล้ชิด สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงมี 16 ชุมชน ในพื้นที่ 7 เขต คือ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสาน ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้มีมาตรการพร้อมรับมือในการตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม เสริมกระสอบทรายจุดเสี่ยงต่อเนื่อง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 68,457 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83

ทั้งนี้ กอนช. ยังเฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง เพราะจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงเป็นระยะ ประกอบกับ มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางในบางช่วง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 ตุลาคม 2565

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ประจำปี 2565 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2565 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 ซึ่งจะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำที่สุด 8-9 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20-21 องศาเซลเซียส

ขณะที่กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำสุด 17-18 องศาเซลเซียส ช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมปีหน้า คาดว่าจังหวัดที่จะหนาวเย็นที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน สกลนคร และนครพนม ขณะที่ภาคใต้ตอนบนจะมีอากาศเย็นในบางวัน แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก และช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ หรือผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ อาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งความสูง 3–4 เมตร ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลลอยกระทง (8 พ.ย.65) ที่จะถึงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปโดยภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกจะมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ จะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง มีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนต่างๆลง หลังสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลเริ่มคลี่คลาย พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (27 ต.ค.65) ว่า ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันปริมาณน้ำทางตอนบน และปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนลงและหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลง ส่วนปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลปริมาณน้ำจากทางตอนบนเริ่มลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายรองบางแห่งลดลงต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานจะพิจารณาการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่กับเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง สำหรับพื้นที่ภาคใต้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนล่วงหน้าให้สามารถรับมือได้ทันทีและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง และวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำให้ใช้งานได้ในสภาพที่สมบูรณ์

ทั้งนี้ กอนช. ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นช่วงวันนี้ - 9 พฤศจิกายน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงและมีมรสุมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางในบางช่วง รวมทั้ง มีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 1.70 - 2.20 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันมีพื้นที่เกิดอุทกภัยใน 29 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ นครนายก ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 68,476 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 ตุลาคม 2565

หลังจากมีกระแสข่าว การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเทศรอบข้างของไทย ทางด้านของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มีหนังสือสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อม ในการป้องกัน เฝ้าระวัง โรคไข้หวัดนก อย่างเข้มงวด ถึงแม้นว่าประเทศไทย ไม่พบการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้ว 14 ปี

ทางด้านปศุสัตว์จังหวัดยะลา นายอรรถพล แสนพันทา ด้เปิดเผยว่า ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา ได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีสัตว์ปีกป่วย ตายในพื้นที่ ก็จะให้เก็บตัวอย่าง เพื่อเข้าสำรวจในห้องปฎิบัติการ พร้อมทั้ง ได้สนับสนุน น้ำยาฆ่าเชื้อ บริเวณที่เกิดโรคในฟาร์มสัตว์ปีก สนับสนุนผลักดันให้ไปพ่นยา และแนะนำเกษตรกร ในการจัดทำฟาร์มให้ได้มาตรฐาน มีการป้องกันโรคที่ดี

ส่วนของการเก็บตัวอย่าง เฝ้าระวัง ก็ได้ทำมาโดยตลอด ในเรื่องการเก็บตัวอย่างในไก่พื้นเมือง ไก่ชน 2 รอบต่อ 1 ปี เพื่อป้องกันสำรวจว่ายังมีเชื้อไข้หวัดนกติดค้างในพื้นที่หรือไม่ ตลอดจนส่งซากสัตว์ที่อ่อนแอ สงสัย ว่าจะมีเชื้อส่งตรวจตามห้องปฎิบัติการ รวมทั้ง นกธรรมชาติ โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ ในเรื่องสำรวจ นำมูลนก ซากนกเข้าห้องปฎิบัติการ สำรวจตรวจสอบว่าพบเชื้อหรือไม่ สำหรับการควบคุมเคลื่อนย้าย มีนโยบายควบคุมการนำสัตว์ปีกเข้าใหม่ ดูฟาร์มการเลี้ยงต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน พักล้าง อย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกัน แน่ใจว่าปลอดเชื้อจากสถานที่นำสัตว์เข้าใหม่ มีการตรวจสอบออกใบรับรอง ส่วนการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ มีการส่งเชื้อตรวจ รอผลตรวจ ถ้าปลอดเชื้อ ก็จะสามารถเคลื่อนย้ายได้

ปศุสัตว์จังหวัดยะลา ยังบอกอีกว่า จริงๆ แล้ว พื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุมหมด ทั้งประเทศไทย เพราะเราต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มต่างๆ ต้องเฝ้าระวังตามมาตรฐาน ตามระเบียบที่กรมปศุสัตว์กำหนดทุกอย่าง

แต่อย่างใดก็ตาม ฝากให้ชาวบ้านตระหนักถึงไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่เลี้ยง ซึ่งถ้าหากพบ สัตว์ปีกตายผิดปกติ ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เรา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เราก็สำรวจอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ทั่วถึง ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยกันดูแล เฝ้าระวัง เพราะว่าทางปศุสัตว์เราก็สำรวจและรายงานไปยังกรมปศุสัตว์ทุกวันอยู่แล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 ตุลาคม 2565

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ บริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้เป็นไปตามแผนและได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนต่างๆลง ภาพรวมฝนตกเฉลี่ยสะสมปีนี้น้อยกว่าปี 2554

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปีนี้ว่า ปีนี้ฝนตกเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 1,775 มิลลิเมตร น้อยกว่าปี 2554 โดยในพื้นที่ภาคกลางปีนี้ฝนตกเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 1,518 มิลลิเมตร มากกว่าปี 2554 เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจนเกิดฝนตกหนักและฝนตกชุกหลายพื้นที่จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนอิทธิพลจากพายุ 3 ลูกเป็นเพียงอิทธิพลทางอ้อม ซึ่ง กอนช. ได้บริหารจัดการตามเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก และลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ก่อนลงสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้ง ลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก แล้วเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่ง หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำก่อนออกอ่าวไทย ควบคุมปริมาณน้ำ สถานี C.29A (บางไทร) ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นการบริหารความเสี่ยงปริมาณน้ำไม่เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับสาเหตุที่ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้น้อยช่วงที่ผ่านมา พบเกิดจากปัญหาต้นคลองใหญ่ส่วนปลายคลองมีขนาดเล็ก โดยคลองชัยนาท – ป่าสัก มีความจุต้นคลอง 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปลายคลอง 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งบริเวณปลายคลองมีน้ำท่วมอยู่แล้วจากปริมาณฝนตกในพื้นที่และมีปริมาณน้ำท่ามาเติม เนื่องจากมีการระบายน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกิน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินศักยภาพของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำล้นคลองและคันคลองขาดไม่สามารถใช้ควบคุมน้ำได้ แล้วยังพบปัญหาบางจุดที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมให้เสริมคันกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำหลากเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่มากขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.