• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 มีนาคม 2566

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 1 มีผลกระทบในช่วงวันที่ 12 – 14 มีนาคม 2566 จากอิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร

สำหรับในช่วงวันที่ 9-11 มีนาคม 2566 มวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุม ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า ตอนกลางวันอากาศร้อน ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 มีนาคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2566 ระยะเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ด้วยการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำ พร้อมขุดลอกคลอง 4 สาย ได้แก่ คลองส่งน้ำสาย 4 คลองสาน คลองหนองอ้อ และคลองพัฒนามงคล รวมความยาวกว่า 57 กิโลเมตร รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชในคลอง และบริเวณอาคารชลประทาน อย่างต่อเนื่อง

ส่วนในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน ได้ทำการปรับปรุงประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ด้านพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ได้วางแผนป้องกันอุทกภัย ด้วยการบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่รอยต่อให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยได้อย่างต่อเนื่อง มีการซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน และปรับปรุงบานระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพนอกจากนี้ ยังได้วางแผนบรรเทาอุทกภัยระยะยาว ภายใต้ 9 แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยในแผนงานที่ 4 การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเลอ่าวไทยได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยรองรับปริมาณน้ำหลากจากตอนบนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่โครงการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ได้อีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 มีนาคม 2566

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลังการประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว สภาพอากาศในสัปดาห์ บริเวณตอนบนของประเทศอุณหภูมิจะสูงขึ้นเนื่องจากมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมมีกำลังอ่อนลงแต่ช่วงเช้าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีอากาศเย็น โดยเฉพาะยอดดอยและยอดภูยังมีอากาศหนาว ส่วนกลางวันอากาศจะร้อน ภาคเหนืออุณหภูมิเฉลี่ยกลางวันเฉลี่ย 25 - 39 องศาเซลเซียส และหลังจากวันที่ 12 มีนาคม อุณหภูมิจะสูงขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำจะปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนแทนที่ โดยลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดนำความชื้นปะทะกับอากาศร้อน และมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมอยู่ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนซึ่งจะมีผลกระทบระหว่างวันที่ 12 - 14 มีนาคม จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฟ้าฝ่า ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทย ช่วงนี้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้ฝนลดลง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 มีนาคม 2566

ภาครัฐ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับควันดำและบังคับใช้บทลงโทษสูงสุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดและป้องกันฝุ่น PM 2.5

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำตามมาตรการตรวจรถควันดำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - 28 กุมภาพันธ์ 2566 แบ่งเป็น กทม. ตรวจสอบสะสม 109,696 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีประมาณร้อยละ 15 จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ ทำให้รัฐจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ด้วยการตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภทครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า - ออก โดยประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ 9 ราย คือ TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO มีศูนย์บริการฯ 1,774 แห่ง รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน พร้อมสนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเพื่อลดควันดำ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน สาเหตุหลักมาจากยานยนต์ที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ซึ่งตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะเพื่อลดควันดำ ด้วยการเพิ่มจุดตรวจและเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มีนาคม 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด พบค่าฝุ่น PM2.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังสูงเกือบทุกพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 13 พื้นที่ และสีแดง 18 พื้นที่ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก อยู่ที่ 91 - 143 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบฝุ่นสูงสุดบริเวณตำบลธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เพราะยังพบการเผาในที่โล่ง การเผาไร่อ้อย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น

พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบนและตอนล่างถึงวันที่ 12 มีนาคม ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบบางพื้นที่ค่าฝุ่น PM2.5 ปรับตัวสูงขึ้นบางพื้นที่เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 2 พื้นที่บริเวณจังหวัดเลย และนครพนม อยู่ที่ 51 - 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คุณภาพอากาศปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่เช่นกัน จากสภาพอากาศปิด ลมอ่อน และบางพื้นที่การจราจรค่อนข้างหนาแน่นทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมตัว โดยยังพบเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 83 พื้นที่ เช่น ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน ตำบลนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ อยู่ที่ 51 - 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ถึงวันที่ 8 มีนาคม มีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงอีกบางพื้นที่ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมเป็นต้นไปสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชัน Air4Thai


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มีนาคม 2566

สสส.-กทม. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร แก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน เน้นจัดการขยะที่ต้นทาง ผ่านเครือข่าย BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม-สุขภาพประชาชน นำร่องเขตปทุมวัน พญาไท หนองแขม หลังพบเมืองกรุงสร้างขยะมากถึง 18% ของทั้งประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แผนงานคนไทย 4.0 และสมาคมโรงแรมไทย จัดกิจกรรม “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วน กว่า 100 องค์กร ที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง ส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แต่ละปี กทม. ต้องใช้งบประมาณจัดเก็บขยะถึง 8,000 ล้านบาท มากกว่างบด้านจัดการศึกษาถึง 2 เท่า หากจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้มากขึ้น ซึ่ง กทม.ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เป็นเรื่องดีที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดงาน BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญ “ไม่เทรวม” แสดงถึงพลังขององค์กรต่างๆ ที่สามารถจัดการขยะโดยลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง และนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายวิธี ทั้งขยะรีไซเคิลและขยะเศษอาหาร ซึ่งจะช่วยลดขยะที่นำไปกำจัดได้ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดโดยองค์กรหลักของสังคม ได้แก่ โรงเรียน วัด ชุมชน อาคารสำนักงาน และโรงแรม และจะได้ขยายไปยังห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ต่อไป

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาเรื้อรังของไทยมายาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารพิษในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน แหล่งน้ำ และย้อนกลับมาก่อปัญหาสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 ไทยมีขยะมูลฝอยรวมกว่า 24.98 ล้านตัน และกรุงเทพมหานคร สร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน คิดเป็น 18% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ สสส. จึงสานพลังกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมูลฝอย สร้างพื้นที่ต้นแบบคัดแยกขยะ ต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะสิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน

“สิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ประเด็นหลักที่ สสส.ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานในทศวรรษนี้ มุ่งเน้นเป็นตัวกลางสานพลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ ท้องถิ่น การเข้ามาร่วมขับเคลื่อนจัดการปัญหาขยะของ กทม. ซึ่งสร้างขยะมากที่สุดในประเทศ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างต้นแบบ 3 เขตนำร่อง แล้วขยายต่อให้ครอบคลุมทุกเขตของ กทม. ก่อนเคลื่อนต่อในเทศบาลใหญ่ๆ ทั่วประเทศต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมโครงการจัดการขยะที่ต้นทาง กับกรุงเทพมหานคร และ สสส. พัฒนาเขตนำร่องจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน 3 เขต คือ ปทุมวัน พญาไท และหนองแขม มีเป้าหมายพัฒนาระบบการเก็บขยะแบบแยกประเภทร่วมกับสำนักงานเขต มีระบบฐานข้อมูลกลาง ส่งเสริมให้แหล่งกำเนิด อาทิ โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน รวม 84 องค์กรในเขตปทุมวันและหนองแขม ลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว และบริษัท เจเนซิส เอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาต้นแบบจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กทม. โดยคาดหวังว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ดำเนินการลดขยะที่ต้นทางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดการขยะที่ปลายทางของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

ภายในงาน มีการเสวนา "มหานครปลอดขยะ เป็นจริงได้อย่างไร" การเรียนรู้ประสบการณ์จัดการขยะที่ต้นทางจากองค์กรต้นแบบ ทั้งโรงเรียน โรงแรม ชุมชน วัด และอาคารสำนักงาน พร้อมมอบป้าย “BKK Zero Waste ไม่เทรวม” ให้กับองค์กรทั้ง 5 กลุ่ม ก่อนร่วมกันแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 มีนาคม 2566

ประเทศไทย ประสบความสำเร็จเป็นประเทศแนวหน้าในระดับภูมิภาคอาเซียนแก้ปัญหาสัตว์และพืชป่า หลังบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อย่างจริงจังดูแลสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีไซเตส 67 รายการ โดยเปิดให้ประชาชนที่ครอบครองลงทะเบียนแจ้งรายละเอียดได้ถึงวันที่ 17 กันยายนนี้

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปีนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องของสัตว์ป่าทั้งประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว มีชนิดสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีไซเตส 67 รายการ ส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีลำดับที่ 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ เกือบ 60 รายการ เริ่มให้แจ้งการครอบครองสำหรับสัตว์ประเภทดุร้ายก่อนใน 12 ชนิดที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วจะเปิดให้ประชาชนที่ครอบครองสัตว์ป่าหายากหรือสัตว์แปลก (Exotic) ที่มาจากต่างประเทศแจ้งการครอบครองได้จนถึงวันที่ 17 กันยายนนี้ จากนั้นจะเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมมีการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หากมีไว้ครอบครองถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายและต้องถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด โดยประชาชนสามารถเข้าแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือติดต่อผ่านสายด่วน 1362 แจ้งรายละเอียดการครอบครองสัตว์ป่าหรือพืชป่าให้เป็นไปตามกฎหมาย

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวย้ำว่า ไทย ยังได้บริหารจัดการสัตว์ต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การค้าที่ถูกกฎหมาย การนำเข้า การครอบครอง เพาะเลี้ยง และเคลื่อนย้ายถูกกฎหมาย ภาพรวม 40 ปีที่ผ่านมาไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาไซเตสมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วง 10 ปีหลังไทยได้พัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งด่านตรวจสัตว์ป่าเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกสัตว์ป่า และ พ.ศ. 2558 ได้ปรับปรุงกฎหมายนี้เพื่อรองรับการบรรจุช้างแอฟริกา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าต่างประเทศชนิดแรกที่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และการออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558 เพื่อแก้ปัญหางาช้างผิดกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างประเทศ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับที่มีผลบังคับในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสัตว์ในบัญชีไซเตสภายในประเทศให้ดีขึ้น ถือว่าไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก แล้วยังเป็นประเทศระดับแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มีนาคม 2566

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า โดยมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลน 3 แสนไร่ ใน 23 จังหวัด ภายใน 10 ปี (ปี 2565-2574) อีกทั้งผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลทรัพยากรป่าชายเลนได้มีการออกระเบียบ พร้อมจัดทำคู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการปลูกป่าชายเลนกับ กรม ทช. เพื่อให้การดำเนินงานปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เกิดประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ผลทุกมิติ และบรรลุเป้าหมายของทุกฝ่าย โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการจัดเก็บข้อมูลการประเมินคาร์บอนเครดิต

ได้มีการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย ดำเนินการโดยคณะทำงานเพื่อศึกษาศักยภาพการเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน คณะทำงานเป็นบุคลากรจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (ISME)

โดยมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่ 4 โซน แบ่งออกเป็น โซนตะวันออก โซนอ่าวไทย ตัว ก โซนอ่าวไทย และโซนอันดามัน ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล กระบี่ และพังงา จำนวน 116 แปลง ใน 16 ชั้นอายุ (แปลงปลูกป่าชายเลนที่อายุ 7, 8, 9, 10, 12, 13, 14, 15, 16, 18, 19, 21, 27, 28, 29 และ 30 ปี) โดยผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย พบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี

โครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต คาดว่าจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดการตั้งกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสร้างรายได้รวมถึงประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ตามปกติทุกประการ ในส่วนขององค์กรภาคธุรกิจก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีสิทธิเพียงการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตเท่านั้น และจะต้องดูแลป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ต่อเนื่องไปไม่น้อยกว่า 10 ปี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.