• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลฯ เปิดตัวเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-Band ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในอนาคต

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มิถุนายน 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามบันทึกความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ในการป้องกันภัยพิบัติ

สำหรับระบบเรดาร์ Solid – State Polarimetric X-band เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยติดตั้งเป็นแห่งแรกของกรมชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสถานีสำรวจทางอุทกวิทยา S.42 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากลุ่มน้ำป่าสักมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากสภาพทางภูมิประเทศที่ลาดชัน ซึ่งสถานีเรดาร์ดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ได้แบบ near real time สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสักไปจนถึงท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยระบบเรดาร์นี้ จะวัดข้อมูลฝนเชิงพื้นที่ ที่มีความละเอียดสูงพร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลประมวลผลเรดาร์ผ่าน J-BIRDS Software ที่จะแสดงข้อมูลปริมาณฝนสะสม ความเข้มของฝน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของลมหรือพายุ ก่อนจะถูกนำไปประมวลผลด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ ที่ติดตั้งอยู่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลตรวจวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำท่าจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ ทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะนำระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเรดาร์ตรวจอากาศดังกล่าว มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.