• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 กุมภาพันธ์ 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการชลประทานและการระบายน้ำ ญี่ปุ่น-ไทย ครั้งที่ 5 โดยมี นายชินจิ อาเบะ (Mr.Shinji ABE) รองอธิบดีกรมพัฒนาชนบท กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น และนายฮิโรมิจิ คิตาดะ (Mr.Hiromichi KITADA) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือต่างประเทศเพื่อการปรับปรุงที่ดิน ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อตอบสนองต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยของเขื่อน และอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (Underground reservoir) ที่กรมพัฒนาชนบท กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมา กรมชลประทาน และกรมพัฒนาชนบท ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกการหารือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการชลประทานและการระบายน้ำเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการชลประทานและการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 กุมภาพันธ์ 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกันเร่งหาองค์ประกอบทางเคมีของ PM 2.5 ในการจำแนกแหล่งกำเนิดหลักในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น หลังพบสูงขึ้นบ่อยครั้ง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำโครงการ “องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละออง PM 2.5 ในการจำแนกแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองหนองคาย” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบหลักทางเคมีของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย // เพื่อประเมินสัดส่วนของแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย และสุดท้าย เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละออง PM 2.5ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย ขณะเดียวกันได้ศึกษาการวิเคราะห์ลักษณะขององค์ประกอบทางเคมีและหาสัดส่วนของแหล่งกำเนิดหลักของ PM 2.5 ร่วมกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา , ข้อมูลการเคลื่อนที่ของกระแสอากาศ (Back Trajectory) , การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงจุดเผาไหม้ในพื้นที่ใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้แบบจำลอง (PMF) มาช่วยวิเคราะห์ ซึ่งผลจากการศึกษาได้ข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ถึงองค์ประกอบทางเคมี สัดส่วนของแหล่งกำเนิดสำคัญ และปัจจัยที่มีผลต่อการสะสมของ PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคายได้ รวมทั้ง ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผลการศึกษาระหว่างหน่วยงานต่างๆนำไปสู่การแก้ปัญหา PM 2.5 ในเทศบาลเมืองหนองคาย พร้อมขยายผลสู่จังหวัดต่างๆในภูมิภาคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) พบฝุ่น PM 2.5 สะสมสูงในบางช่วงของปี ซึ่งเทศบาลเมืองหนองคายเป็นเมืองขนาดกลางตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจากลักษณะดังกล่าวไม่ควรมีการสะสมของ PM 2.5 สูงบ่อยครั้ง แต่ที่ผ่านมากลับพบมีปริมาณ PM 2.5 สูงบ่อยครั้งและบางครั้งสูงกว่าเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุและเร่งแก้ปัญหา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองในภาคใต้ พร้อมระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำช่วงวันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (19 ก.พ.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองอยู่ในระยะนี้ โดยเฉพาะมีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.พัทลุง , สุราษฎร์ธานี และ กระบี่ ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำ หลังกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 19 – 22 กุมภาพันธ์ โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณปากแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 กุมภาพันธ์ 2566

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ว่า ช่วงวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์นี้ จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากค่าฝุ่นจะสูงขึ้น เป็นช่วงที่ลมทางทิศตะวันออกปะทะกับลมทางทิศใต้ โดยช่วง 10 วันที่ผ่านมามีอากาศที่ดี และขณะนี้จากการติดตามค่าฝุ่นยังไม่สูงมาก เนื่องจากมีฝนตก และวันนี้ได้มอบอุปกรณ์กรองอากาศให้กับศูนย์เด็กเล็กสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 270 แห่ง เชื่อว่าจากการดูพยากรณ์สถานการณ์ยังไม่รุงเเรง จะบรรเทาลงช่วง 2-3 วันข้างหน้า

ทั้งนี้ เขตลาดกระบังจะพบปัญหาเรื่องการเผาถ่านในบางพื้นที่จึงสั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ชี้จุด โดยนำกฎหมายเข้าไปบังคับอย่างเข้มงวด รวมถึงปัญหาการจราจร โดยจะประสานงานให้ดีขึ้น ซึ่งมีโครงการที่ปรับปรุงทางข้ามอยู่แล้วกว่า 50 แห่ง จะเร่งปรับรปรุงทางข้ามม้าลายมีความปลอดภัยแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 กุมภาพันธ์ 2566

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้ทำการส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วให้นำเฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า เนื่องจากค่าคุณภาพอากาศของประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จากการเกิดไฟป่าในพื้นที่ และเนื่องจากปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายวัน ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้นประกอบกับข้อมูลสถานการณ์ค่าคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า มีสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ตรวจพบค่าระหว่าง 19-165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ตรวจพบค่าระหว่าง 18-191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นวงกว้างจากสถานการณ์ดังกล่าว

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการประสานงานและวางแผนร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จังหวัดเชียงใหม่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยที่เกี่ยวข้อง ขึ้นบินสำรวจจุดความร้อน เพื่อวางแผนการบิน และหาแหล่งน้ำที่ใกล้กับบริเวณที่เกิดไฟป่า เพื่อรักษาปริมาณน้ำในถังให้ได้มากที่สุด โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 ลำ ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าบริเวณพื้นที่อำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 9–11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ใช้แหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำศาลาฮ่อและอ่างเก็บน้ำบ้านโป่ง มีผลการปฏิบัติภารกิจจำนวน 3 วัน รวมจำนวน 37 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำ รวมทั้งสิ้น 22,200 ลิตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 กุมภาพันธ์ 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติที่มีจุดความร้อนสูงสุดและเสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง 8 แห่งในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ หลังพบปัจจัยเสี่ยงเกิดจากสภาพอากาศในประเทศและการสะสมของเชื้อเพลิงในช่วงหลายปี

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวถึงแนวทางการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหมอกควัน หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนมีกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดจากสภาพอากาศและจุดความร้อน (Hotspot) ภายในประเทศไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากจุดความร้อนสะสมที่เกิดจากการเผาของประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขง แม้ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 โดยเฉพาะในเมียนมารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 147 แต่ภาคเหนือของไทยเป็นปัจจัยมาจากสภาพอากาศภายในประเทศ ส่วนผลกระทบจากจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านต่อไทยมีไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องออกมาตรการภายในประเทศที่ชัดเจนมาควบคุม ด้วยการให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชประกาศปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติที่มีจุดความร้อนสูงสุดและเสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง 8 แห่งในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ยกเว้นส่วนที่ให้บริการการท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ควบคุมจุดความร้อนได้คล่องตัวมากขึ้นและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย // อุทยานแห่งชาติผาแดง // อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท // อุทยานแห่งชาติออบหลวง // เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย // อุทยานแห่งชาติแม่ปิง // อุทยานแห่งชาติศรีน่าน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มีผลตั้งแต่วันนี้ (16 ก.พ.66) เป็นต้นไป ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกรมป่าไม้อยู่ระหว่างวิเคราะห์จุดที่มีความเสี่ยงสูงเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดขอเข้าควบคุมเส้นทางในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อควบคุมการเกิดจุดความร้อนและปฏิบัติการดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากคาดการณ์การเติบโตของระบบเศรษฐกิจและการสะสมของเชื้อเพลิงช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา พบมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากพบเกิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง // เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง และวนอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดจากจุดความร้อนดูจากตัวเลขเมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ สูงถึง 793 จุด หรือร้อยละ 93.82 ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในเขตป่า โดยช่วงวันที่ 1 มกราคมถึงปัจจุบันพบสูงถึง 19,781 จุด ทั้งนี้ จากการสำรวจพบช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสถานการณ์ PM 2.5 และจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มรุนแรงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ สถานการณ์ของอุตุนิยมวิทยา สภาพดินฟ้าอากาศที่จะมีอากาศปิด มีอากาศเย็น และแห้งมากขึ้น ดูจากค่าเฉลี่ยปีนี้ PM 2.5 ช่วง 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 // จำนวนวันที่เกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 และจำนวน Hotspot ใน 17 จังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 118 ภาพรวมคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มรุนแรงไปจนถึงสิ้นเดือน สำหรับจุดความร้อนสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 118 ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 70 เกิดในพื้นที่ป่า แบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ร้อยล 50 และป่าสงวนแห่งชาติร้อยละ 50


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กุมภาพันธ์ 2566

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เตรียมเปิดเวที “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน” หวังสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินไปในทิศทางเดียวกัน

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้จัดงานสัมมนา “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ อิมแพคเมืองทองธานี ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจและผลการดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเข้าใจที่ถูกต้องด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน และแนวทางการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้ง มีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติให้ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดีเด่น จาก พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เกียรติจาก รองนายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมเสวนา “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน”

ทั้งนี้ ยังเปิดเวทีเสวนา “มองไปข้างหน้ากับ คทช.” จากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) , การแก้ปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐมาตรการ, การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน โดยผู้ที่สนใจสามารถชมงานนิทรรศการภายใต้แนวความคิด “หมู่บ้าน คทช.” ที่แสดงผลงานของ สคทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายรัฐบาล


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กุมภาพันธ์ 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมากต่อเนื่อง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังสูงในระดับสีส้มและสีแดงบางพื้นที่

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (9 ก.พ.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลาง โดยค่าฝุ่นยังคงลดลงต่อเนื่องในทุกพื้นที่ จากสภาพอากาศเปิดและมีลมพัดช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงได้มาก ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ มีแนวโน้มคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากสภาพอากาศเปิดมากขึ้น และมีลมใต้ที่มีกำลังค่อนข้างแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด พบหลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงในระดับสีส้ม 14 พื้นที่ ยกเว้นบริเวณ ต.หางดง อ.ฮอด และ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สูงในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ที่ 93 - 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบหลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงในระดับสีส้ม 4 พื้นที่

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้มและสีแดง ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือ N95 หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.