• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ 22 จังหวัด ช่วง 7 – 11 มิ.ย.นี้

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ 22 จังหวัด ช่วงวันที่ 7 – 11 มิถุนายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 5 หลังพบจะมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมและมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้จะยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งช่วงวันที่ 7 – 11 มิถุนายน เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน คือ ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ บริเวณอำเภอเชียงดาว แม่แจ่ม แม่วาง กัลยาณิวัฒนา จอมทอง สะเมิง อมก๋อย และฮอด // แม่ฮ่องสอน บริเวณอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย // ลำพูน บริเวณอำเภอทุ่งหัวช้าง แม่ทา บ้านโฮ่ง และป่าซาง // ตาก บริเวณอำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง // แพร่ บริเวณอำเภอเด่นชัย // พิจิตร บริเวณอำเภอบางมูลนาก // อุตรดิตถ์ บริเวณอำเภอฟากท่า // นครสวรรค์ บริเวณอำเภอบรรพตพิสัย // เพชรบูรณ์ บริเวณอำเภอวิเชียรบุรี // อุทัยธานี บริเวณอำเภอหนองขาหย่าง ขณะที่ภาคตะวันออก ใน จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณอำเภอบ้านโพธิ์ // สระแก้ว บริเวณอำเภอวัฒนานคร // ชลบุรี บริเวณอำเภอพานทอง // ระยอง บริเวณอำเภอเมืองระยอง บ้านค่าย และแกลง // จันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ และขลุง // ตราด บริเวณอำเภอเกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ และคลองใหญ่ ส่วน ภาคใต้ ใน จ.ระนอง บริเวณอำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ // พังงา บริเวณอำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง // ภูเก็ต บริเวณอำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต // กระบี่ บริเวณอำเภอคลองท่อม เกาะลันตา เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก // ตรัง บริเวณอำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน // สตูล บริเวณอำเภอละงู และยะลา บริเวณอำเภอรามัน

ทั้งนี้ กอนช.ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน พร้อมเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.