• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ทช. เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้มีประสิทธิภาพ หวังให้เข้ามาช่วยป้องกันทรัพยากรของประเทศให้คงความสมบูรณ์ โดยตั้งเป้า 10 ปี ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 พฤษภาคม 2566

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้มีประสิทธิภาพ หวังให้เข้ามาช่วยป้องกันและรักษาทรัพยากรของประเทศให้คงความสมบูรณ์และเกิดการใช้ประโยชน์ให้สูงสุด โดยตั้งเป้า 10 ปี ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาแนวคิดร่วมกันในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดประชุมภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 7 ในพื้นที่จังหวัดพังงาและระนอง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารนำมาพัฒนาความรู้ทางนโยบาย ระเบียบ กฎหมาย ข้อมูลระดับพื้นที่ สภาพระบบนิเวศ แหล่งทรัพยากร การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของชุมชน ที่สำคัญยังเป็นฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบันจังหวัดระนองมีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง 21 กลุ่ม รวม 546 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 786 คน ส่วนจังหวัดพังงามีเครือข่ายชุมชนชนชายฝั่ง 42 กลุ่ม รวม 1,227 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 1,302 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง การแปรรูปอาหารทะเลและป่าชายเลน เกษตรกรรม และการเพาะปลูกพืชต่างๆ ทั้งนี้ เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลมีความสำคัญมากต่อการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยการให้ช่วยกันสอดส่องดูแลทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง ป่าชายเลน สัตว์ทะเลหายาก พร้อมฝึกอบรมเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรุ่นเยาวชน เพื่อสานต่องานด้านเครือข่ายทางทะเลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างโอกาสและอาชีพในการหารายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเกิดเป็นธุรกิจขนาดย่อมในชุมชนด้วย ควบคู่กับเดินหน้าโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้า 10 ปี ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทช. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนร่วมคิดร่วมทำ ผ่านแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นแหล่งสร้างอาหาร แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก แต่ขณะนี้พบมีการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งโดยเจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก ประกอบกับ ทช. มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องอาศัยพลังของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมพิทักษ์รักษาดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.