• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ก.ทรัพย์ เดินหน้าขับเคลื่อนการเพิ่มคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชายเลน พร้อมตั้งเป้า 10 ปี เพิ่มป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 พฤษภาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าขับเคลื่อนการเพิ่มคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจในชุมชนและประเทศให้เติบโต พร้อมตั้งเป้า 10 ปี เพิ่มป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในงาน "วันป่าชายเลนแห่งชาติ ประจำปี 2566" ภายใต้คำขวัญ “ป่าชายเลนชุมชน คนดูแลป่า พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคาร์บอนเครดิต ลดวิกฤติโลกร้อน” บริเวณบ้านน้ำร้อน ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงเดินหน้างานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนมาโดยตลอดผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ร่วมกันให้ภาคเอกชนและชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้า 10 ปี ระหว่างปี 2565-2574 เพิ่มป่าชายเลนให้ได้ 300,000 ไร่ ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคนช่วยกันดูแล รักษา และฟื้นฟู จนผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มอบหนังสืออนุมัติโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชนให้ผู้แทนชุมชน 16 ชุมชน รวมเนื้อที่ 894 ไร่ บริเวณบ้านน้ำร้อน จ.กระบี่ ถือเป็นการเปิดป่าชายเลนสำหรับชุมชนครั้งแรกของ ทช.

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ไร่ ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน แต่ยังคงมีความท้าทายจากความต้องการใช้ที่ดินปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมแก้ปัญหานี้ สำหรับปีนี้จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนการทำงานในท้องถิ่น และช่วยกันดูแลผืนป่าชายเลนจนมีจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.