• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน จัดกิจกรรมเสวนา "อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย CHAPTER 4"

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กรกฎาคม 2566

วันที่ 3 ของการจัดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIK 2023 ที่คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) ร่วมกับ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครื่อข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน จัดขึ้น เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการประจำปี 2566 ซึ่งวันนี้ มีการเสวนา "อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย CHAPTER 4" ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว (INWEPF - Thailand) จัดขึ้น โดย นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองประธานคณะอนุกรรมการ INWEPF-Thailand กล่าวว่า ประเทศไทย มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,400 มิลลิเมตร มีการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 435 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่ฝนจะตกต่ำกว่าค่าปกติประมาณ ร้อยละ 5 ส่งผลกระทบกับการทำการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการทำนาก่อนจนกว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนที่มีการปลูกแล้วก็จะมีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้านนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญกับการทำนาเปียกสลับแห้ง ด้วยปรากฏต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรากฎเอลนีโญ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันขยายการทำนาเปียกสลับแห้ง ให้เกิดการทำอย่างเป็นรูปธรรม สามารถช่วยการประหยัดน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ได้รับจัดสรรมีจำกัด และเป็นแปลงที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว

ขณะที่นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ผู้แทนเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากได้เริ่มการทำนาเปียกสลับแห้ง แล้วได้ผลผลิตที่ดีมากถึง 900 – 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงได้มาก ไม่มีการใช้สารเคมี และยังมีรายได้เพิ่มมากขึ้นพร้อมแนะเกษตรกรลองเริ่มทำก่อนแล้วค่อยๆ ปรับก็จะเห็นผลดีเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยเป็นผลงานจาก 25 หน่วยงานที่นำมาจัดแสดงและสาธิตการใช้เครื่องมือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น โดรนเพื่อการสำรวจภูมิประเทศ Bathymetry Survey อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมจากระยะไกล อุปกรณ์ LOT เป็นต้น พร้อมเชิญชวนองค์การเครือข่าย สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และเอกชน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้ถึงวันที่ 7 ก.ค.นี้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.