สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 4 กรกฎาคม 2566
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศปีนี้ลดลงอีกร้อยละ 10 หวั่นกระทบน้ำต้นทุนปีหน้า พร้อมประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 เน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำว่า ภาพรวมประเทศไทยมีปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 2 กรกฎาคม พบฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 25 โดยปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งกักเก็บน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 29 ถือว่ามีการใช้น้ำลดลงไปถึงร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคกลางมีน้ำต้นทุนน้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 17 ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 40 ด้านภาคตะวันตกและภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 60 ซึ่งน่ากังวลสำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนปีหน้าแต่ได้เตรียมแผนรับมือรองรับแล้ว เพราะมีแนวโน้มฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยลงจากผลกระทบปรากฎการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 2566 – 2567 ที่ใช้ระยะเวลาขุดเจาะสั้นๆเน้นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติมแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยปีนี้รวมแล้วกว่า 2,000 แห่ง แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 200 แห่ง // น้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ไม่เกิน 50 – 500 ไร่ 200 แห่ง // ซ่อมแซมและปรับปรุงบ่อบาดาลที่ใช้การไม่ได้ประมาณกว่า 1,000 แห่ง
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า จำเป็นต้องบริหารจัดสรรน้ำและส่งน้ำในแต่ละแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้น้ำเพียงพอใช้และไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำมากที่สุดเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมถึง ต้องใช้น้ำมาผลักดันน้ำเค็มในภาคกลางเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา ภาพรวม 4 เขื่อนหลักของประเทศมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ร้อยละ 40 ถือว่าโชคดีที่มีฝนตกลงมาในจังหวัดน่านตามแนวที่คาดการณ์ช่วยให้เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น