• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 เน้นย้ำโครงการชลประทานลุ่มเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำ 2 มิติ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กรกฎาคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 และ 10 ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท พร้อมกล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน จะมีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นและมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่าทั้งในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลับและน้ำล้นตลิ่งได้ แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์เอลนีโญ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น จึงกำชับโครงการชลประทาน โครงการก่อสร้าง สำนักเครื่องจักรกลโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นจุดรองรับน้ำจากทางตอนบน ให้เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ สอดคล้องกับสถานการณ์ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถเข้าช่วยพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน ( 8 ก.ค.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำ 10,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,557 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ไปแล้ว 3,391 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) ภาพรวมการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 6.43 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) โดยกรมชลประทานได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายได้ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.