• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หลังจัดสรรน้ำไปแล้วเกือบ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลกระทบเอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 มิถุนายน 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หลังจัดสรรน้ำไปแล้วเกือบ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภาพรวมแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นจัดสรรน้ำไปแล้ว 2,799 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 51 ของแผนทั้งหมด ถือเป็นปริมาณน้ำจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักได้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะนี้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบเพาะปลูกไปแล้ว 5.84 ล้านไร่ หรือร้อยละ 71 ของแผนการเพาะปลูกช่วงฤดูฝนปีนี้ ซึ่งประเทศไทยจะประสบสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจากเอลนีโญกำลังอ่อนในปัจจุบันจะกลายเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จึงต้องใช้ฝน ONE MAP มาประเมินสถานการณ์น้ำต้นหน้าแล้ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 คาดว่า จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั้งประเทศ 46,177 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 65 ของความจุรวม พบเป็นน้ำใช้การเพียง 22,635 ล้านลูกบาศก์เมตร หริอร้อยละ 48 โดยปริมาณน้ำใช้การนี้มีจำนวนน้อยกว่าปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีน้ำเพียงพอ

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้จะยังมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก จึงอาจเกิดอุทกภัยได้บางพื้นที่ จึงให้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ คือ เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ยะลา ลพบุรี และปราจีนบุรี ขณะเดียวกัน สทนช.ได้เร่งให้แต่ละหน่วยงานพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน ครอบคลุมแหล่งน้ำธรรมชาติและทางน้ำธรรมชาติ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการใช้น้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 โดยให้เกษตรกรงดเพาะปลูกพืชต่อเนื่องแต่เน้นการเพาะปลูกพืชน้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำใช้จนถึงปีหน้า


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.