• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. คาดการณ์พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและฝนเพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรงจ จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและฝนเพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) แล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่า จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 18 - 19 กรกฎาคม ส่วนช่วงวันที่ 16 - 20 กรกฎาคม ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศได้กว่า 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงวันที่ 16 - 22 กรกฎาคม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คาดจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด คือ เขื่อนสิรินธร 259 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนวชิราลงกรณ 217 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนสิริกิติ์ 195 ล้านลูกบาศก์เมตร // เขื่อนลำปาว 125 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพล 117 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าวจะทำให้ช่วงนี้มีฝนเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในทุกภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก ที่ใช้สนับสนุนน้ำต้นทุนให้ภาคกลางสำหรับใช้ผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปา ถือเป็นผลดีในพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่คาดจะมีฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญปีนี้และเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในบางแห่ง ซึ่งมีพื้นที่เพิ่มเติมระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ช่วงวันที่ 18 - 21 กรกฎาคมนี้ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และลอกท่อระบายน้ำ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.