• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุม กอนช. เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 สิงหาคม 2566

ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการ พร้อมรับมือการแปรปรวนของสภาพอากาศ หลังพบพื้นที่เสี่ยงท่วมและน้ำแล้งหลายพื้นที่

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 2 ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ เนื่องจากอิทธิพลของเอลนีโญที่เกิดขึ้นขณะนี้มีประชาชนกำลังประสบปัญหาอย่างมากจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภค โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติต่อไป เพื่อทำงานเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ทันต่อสถานการณ์ 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนดให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการระบายน้ำ รองรับสถานการณ์เอลนีโญ // มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรควบคุมไม่ให้เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แบ่งเป็น การใช้น้ำภาคการเกษตร ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ , การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พร้อมรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดทุกภาคส่วน ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ และสุดท้าย ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน ด้วยการปรับรอบเวรการส่งน้ำให้สอดรับกับปริมาณความต้องการน้ำของพื้นที่จะดำเนินการตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันวางแผนและเตรียมพร้อมในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ2 ปี และให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 โดยให้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจะจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัดโดยคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้คาดการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั้งประเทศรวมกันอยู่ที่ 49,688 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีน้ำใช้การ 26,142 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.