สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 15 สิงหาคม 2566
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังพบปริมาณน้ำรวมใน 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ยังคงติดตามผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญในปัจจุบันต่อเนื่อง เพราะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติและทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆลดลงกระทบต่อปริมาณน้ำภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ในส่วนนี้กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยการกำหนดแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม รวม 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 8.05 ล้านไร่ ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 2,974 ล้านลูกบาศก์เมตรอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก หลังจัดสรรน้ำไปแล้วรวม 4,525 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 7.15 ล้านไร่ และเก็บเกี่ยวแล้ว 300,000 ไร่
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า จำเป็นต้องลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงต้องประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะปัจจุบันปริมาณฝนสะสมมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประกอบกับ ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ 4 เขื่อนหลักจะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก เพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น