• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ทส. จับมือ GC พัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล ช่วยลดพลาสติกใช้แล้วกว่า 4,500 กิโลกรัม ต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 สิงหาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบได้กว่า 4,500 กิโลกรัม ต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้อย่างยั่งยืน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดให้มีพิธีส่งมอบโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อเป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สร้างประโยชน์ต่อชุมชน ควบคู่กับการรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงฯ และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี ณ ห้องแถลงข่าว 101 ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ GC ได้ร่วมดำเนินการพัฒนาการก่อสร้างถนนทางเดินอัพไซเคิล และท่าน้ำอัพไซเคิลจากพลาสติกใช้แล้ว บริเวณพื้นที่รอบสระน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมระยะทาง 320 เมตร ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกไปสู่หลุมฝังกลบมากกว่า 4,500 กิโลกรัม พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 4,700 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 495 ต้น นับเป็นโครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล ที่ได้รับฟังความคิดเห็น การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงระบบนิเวศและการใช้งานอย่างสมดุล โดยยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติที่หลากหลาย สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ที่คงไว้ซึ่งความสมดุลของธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

“โครงการพัฒนาพื้นทางเดินอัพไซเคิล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงนับเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะส่งเสริมให้สังคมได้เห็นถึงประโยชน์ของการหมุนเวียนทรัพยากร ผ่านการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่า และสร้างประโยชน์ ให้ “พลาสติกเทิร์นเมือง” เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ส่งต่อสู่การอัพไซเคิล ถือเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรแบบ Closed loop ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่อยอดสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนให้กับทุกคน” นายวราวุธ กล่าว

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการสร้าง “ถนนอัพไซเคิล” และ “แผ่นทางเดินอัพไซเคิล” เพื่อสร้างให้เกิดสาธารณ ประโยชน์กับประชาชน และชุมชน นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วผ่านกระบวนการอัพไซเคิลในบริเวณพื้นที่โดยรอบสระน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา GC ได้ริเริ่มและพัฒนา “GC YOU เทิร์น” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเก็บ คัดแยก และนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล ได้ออกมาเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า

สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมถึงการรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ โดย GC ได้พัฒนาและส่งมอบ “ถนนอัพไซเคิล” ผลิตจากยางมะตอยผสมพลาสติกใช้แล้วประเภทฟิล์ม LDPE และ LLDPE ที่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล โดยผ่านการวิจัยและพัฒนา ทำให้มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นเหมือนถนนลาดยางมะตอยทั่วไป “แผ่นทางเดินและท่าน้ำอัพไซเคิล” ผลิตจากพลาสติกใช้แล้ว ประเภทฟิล์มหลายชั้น (Multilayer) และฟิล์ม LDPE ที่มีความยากต่อการนำมารีไซเคิล โดยนำกลับมาหลอมและอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นทางเดินที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าอิฐที่ผลิตจากทรายและปูน การดำเนินการในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลดีให้กับโลกใบนี้ของพวกเราอย่างแท้จริง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.