• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เร่งปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีรับมือผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ด้วยการใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีรับมือผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ด้วยการใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญว่า กอนช.ได้วางแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งปี 2566/67 // ช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 และสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำในพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืน ส่วนแผนรับมือภาวะขาดแคลนน้ำจะใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่มีอยู่ร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น กรมชลประทานและบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตจากแม่น้ำบางปะกงมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ตั้งเป้าสูบผันน้ำรวมประมาณ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เบื้องต้นสูบผันน้ำได้แล้วรวม 10.2 ล้านลูกบาศก์เมตรขณะเดียวกันกรมชลประทานจะสูบผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จากนั้นจะใช้อ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลางส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่อีอีซี โดยวางแผนจะสูบผันน้ำจากคลองสะพานรวม 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นสูบผันน้ำเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้แล้ว 2.65 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กอนช.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้วยการให้กรมชลประทานวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์อีกทางด้วย ซึ่งระบบท่อผันน้ำที่มีอยู่มีศักยภาพผันน้ำได้ประมาณปีละ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถลดความเสี่ยงที่อ่างเก็บน้ำประแสร์และลดการขาดแคลนน้ำต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมวางแผนใช้น้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม เช่น การขอซื้อน้ำจากแหล่งน้ำของภาคเอกชน รวมถึง ให้ชะลอการขุดลอกอ่างเก็บน้ำพื้นที่โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก เช่น อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบ้านบึง เพื่อลดปัญหาความขุ่นของน้ำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ใช้การได้ และลดภาระการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยอยู่แล้วมาทดแทน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.