สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 19 กรกฎาคม 2566
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าโครงการ “น่านแซนด์บอกซ์” ต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าให้กับประชาชน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการภาครัฐ กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน ครั้งที่ 1 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำข้อตกลงการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเกษตรกรรายแปลงที่ทำกินในเขตป่าตามกฎหมายจังหวัดน่าน ระหว่างกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดน่าน หรือ “น่านแซนด์บอกซ์” ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดน่านตามโครงการน่านแซนด์บอกซ์ต่อเนื่อง ทั้งการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า (คทช.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ ด้วยการแก้ปัญหาในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 , 4 , 5 ได้อนุญาตพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปจัดที่ทำกินครบถ้วนทั้งจังหวัดแล้ว 41 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 272,000 ไร่ ส่วนพื้นที่หลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้จัดทำข้อมูลส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดทำคำขออนุญาตแล้ว 36 ตำบล รวม 184 หมู่บ้าน ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 ได้จัดทำโครงการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้วรวม 15 โครงการ เนื้อที่ประมาณ 950,000 ไร่ เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนเรียบร้อยแล้วจะดำเนินการอนุมัติโครงการต่อไป
สำหรับในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปัจจุบันได้สำรวจราษฎรที่อาศัยทำกิน เพื่อดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว มีพื้นที่ 7 ป่าอนุรักษ์ รวมเนื้อที่ประมาณ 194,000 ไร่ โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้ง ยังจัดทำโครงการสนับสนุน คือ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้ราษฎรในพื้นที่รวม 27 โครงการ เพื่อสนับสนุนน้ำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์พัฒนาคุณภาพชีวิต