• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด ถึงวันที่ 11 มกราคมนี้ พร้อมเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 ม.ค.66) ว่า ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา , ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีน้ำท่วมบริเวณ จ.ยะลา ใน 2 อำเภอ คือ อ.ยะหา และสะเตงนอก รวม 3 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 158 ครัวเรือน // ปัตตานี น้ำท่วมใน อ.โคกโพธิ์ รวม 12 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,027 ครัวเรือน จึงได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน กอนช.ยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 11 มกราคมนี้ ทั้งนี้ จะมีอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังปกคลุมประเทศไทยส่งผลให้มีฝนตกหนักภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ตอนล่างช่วงวันที่ 12 - 15 มกราคม ทำให้แนวโน้มมีฝนลดลง จึงคาดการณ์คลื่นวันที่ 9 - 11 มกราคม มีความสูง 1.5 - 2 เมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ส่วนน้ำทะเลหนุนสูงที่ปากแม่น้ำปัตตานีจะหนุนสูงวันที่ 11 และ 24 มกราคม เบื้องต้นกรมชลประทานลดบานประตูที่เขื่อนปัตตานีและบ้านปรีกี เพื่อผลักน้ำออกทางคลองตุยง ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณบ้านบริดอ

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือใน จ.ชุมพร และนราธิวาส ที่มีการก่อสร้างสะพานเบลีย์ใน จ.นราธิวาส คาดว่า จะแล้วเสร็จวันที่ 11 มกราคม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมและสนับสนุนเครื่องจักรกลใช้ช่วยเหลือใน จ.สงขลา นราธิวาส และปัตตานี สำหรับกรมประชาสัมพันธ์ได้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำภาคใต้ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง และเขื่อนบางลางหยุดการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 มกราคม 2566

เช้านี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 15 พื้นที่ โดยพรุ่งนี้ (10 ม.ค.66) จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำและอากาศปิด

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้ (9 ม.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นเกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 15พื้นที่ เช่น ริมถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง , ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง , ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง , ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน , ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม , แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ , ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน เนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและลมสงบจึงเกิดการสะสมของฝุ่น ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันที่ 10 มกราคมนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง และลมสงบ บริเวณพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ ส่วนช่วงวันที่ 11 - 15 มกราคม จะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากอากาศที่เปิดมากขึ้น ประกอบกับ ลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงเข้าช่วย จึงขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้ม ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 มกราคม 2566

ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือกลไกเครดิตร่วม (JCM) พร้อมขยายสู่การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือกลไกเครดิตร่วม (JCM) และความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ คือ ความร่วมมือด้านการจัดการขยะทะเล โดยเฉพาะการจัดตั้ง Monitoring Centre , การแก้ปัญหา PM 2.5 ภายใต้โครงการ Thailand - Japan Clean Air Partnership (JTCAP) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประเทศไทยมีความตั้งใจแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก , การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) , การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม , การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ , การจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการอบรมด้านการบริหารจัดการสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง และไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น พร้อมจะสนับสนุนการจัดการประชุม the 2nd ASEAN - Japan Ministerial Dialogue on Environmental Cooperation และ ASEAN - Japan Environment Week ที่จะจัดคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน สมัยที่ 17 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือร่วมกันมากกว่า 50 โครงการ พร้อมจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป โดยการจัดทำความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในการพัฒนากลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism) ฉบับใหม่ ซึ่งได้หารือในระดับเจ้าหน้าที่จะได้ข้อสรุปในการประชุม JC High level Dialogue ที่จะมีขึ้นในปีนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 มกราคม 2566

นายประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองคาย เปิดโครงการเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำแม่น้ำโขงเขตอภัยทานวังปลาพระธาตุหล้าหนอง ภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมนำ้โขง(เชียงราย - เลย - หนองคาย - บึงกาฬ - นครพนม - มุกดาหาร - อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) ณ บริเวณเขตอภัยทานอนุรักษ์วังปลาพระธาตุหล้าหนองเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเฝ้าระวังและจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ตนเอง ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดหนองคายได้เสนอกิจกรรมการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำให้ยั่งยืนต่อไป โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เทศบาลเมืองหนองคาย มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 100 คน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 มกราคม 2566

นางสาวธฤษวรรณ รัศมี และ นางสาววริศรา ทองระย้า นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เปิดเผย ผลการทดสอบและวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพของหน้ากาก N95 เมื่อสวมเกิน 4 ชั่วโมง ว่า " ในช่วงวิกฤติหมอกควัน ระดับฝุ่นละอองสูงเกินระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของประเทศไทย ฝุ่นละอองเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ คนไทยเผชิญปัญหาวิกฤติหมอกควันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่แหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากการเผาไหม้ชีวมวล การเผาป่า การจราจร การก่อสร้าง เป็นต้น หน้ากาก N95 เป็นทางเลือกที่อาจใช้เพื่อลดผลกระทบทั้งจากไวรัส COVID -19 และฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน้ากากดังกล่าวมีคุณสมบัติการกรองละอองฝุ่นในอากาศที่มีขนาดเล็ก 0.3 ไมโครเมตรขึ้นไปได้อย่างน้อย 95% ภายใต้มาตรฐานของหน่วยงาน U.S. National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพการใช้งานหน้ากาก N95 อาจเปลี่ยนแปลงตามเวลาการใช้งานต่อเนื่อง เป็นที่น่าสนใจว่า ระยะเวลาการใช้งานหน้ากาก N95 ในช่วงวิกฤติหมอกควันที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ดี โดย ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี สำหรับวิธีการการศึกษาข้อมูล นางสาวธฤษวรรณ รัศมี และนางสาววริศรา ทองระย้า นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้มีการทดสอบการสูญเสียแรงดันของแผ่นกรองจากหน้ากาก N95 ภายใต้สภาวะจำลองในช่วงวิกฤติหมอกควัน (ระดับละอองฝุ่นขนาดน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร ระหว่างการทดลองเฉลี่ย 143.39 ?g m-3 สูงกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ที่ประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 120 ?g m-3 เฉลี่ยในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง) ใช้ปั๊มดูดอากาศอัตราต่ำ เพื่อจำลองอัตราการหายใจของมนุษย์ วิธีทดสอบมุ่งเน้นประเมินประสิทธิภาพของวัสดุ ที่ทำหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว ไม่ได้พิจารณาปัจจัยเรื่องการสวมใส่ ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียแรงดันคงที่ในช่วงเริ่มต้นถึงประมาณนาทีที่ 240 หรือประมาณ 4 ชั่วโมง ในชั่วโมงที่ 5 การสูญเสียแรงดันเพิ่มขึ้นมากบ่งชี้ว่าฝุ่นละอองสะสมบนหน้ากากมากจนผู้สวมใส่อาจหายใจไม่สะดวก ในชั่วโมงที่ 7 และ 8 การสูญเสียแรงดันลดลง บ่งชี้ว่าแผ่นกรองอาจเกิดการฉีดขาด ดังนั้น ทางที่ดีไม่ควรใส่หน้ากาก N95 ต่อเนื่องเกิน 4 ชั่วโมงในสภาวะที่ฝุ่นในช่วงวิกฤติหมอกควัน ซึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นข้อมูล ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษา ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ ที่ใช้ป้องกันตนเองในการกรองฝุ่นละออง

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดการฝุ่นละอองในหลากหลายประเด็น หากประชาชนท่านใดต้องการปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ Email This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it." สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 034-585058


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด จากฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วงวันที่ 6 - 11 มกราคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (5 ม.ค.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช , สุราษฎร์ธานี และยะลา ในส่วนของเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,225.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 84.3 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 228.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีการระบายน้ำอยู่ที่ 10.05 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ช่วงวันที่ 6 - 8 มกราคมนี้ หลังภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ด้วยการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 6 - 11 มกราคม ใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แล้วยังต้องระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

พร้อมทั้ง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมถึง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ // ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก พร้อมซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มกราคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 61,397 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 37,443 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66

ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 7,309 ล้าน ลบ.ม. และขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 4.72 ล้านไร่ โดย เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของแผนฯ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนใช้น้ำค้างทุ่งในการเพาะปลูก จึงทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเพียงพอสนับสนุนให้เกษตรได้ใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางบริหารจัดการน้ำอย่างปราณีต ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบต่อเกษตรกร

สำหรับช่วงระหว่างวันที่ 6 - 11 ม.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิมยา คาดการณ์ว่ายังคงมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ จัดเตรียมเครื่องจักร ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ในส่วนของพื้นที่ที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ควบคุมและรักษาระดับน้ำใต้ดินในพรุให้สมดุล เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 มกราคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกในภาคใต้บางแห่งและบริหารจัดการน้ำหลังอุทกภัยเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (3 ม.ค.66) ว่า ภาพรวมประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นราธิวาส , ปัตตานี และสุราษฎร์ธานี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำหลังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่สภาวะปกติ เช่น กรมชลประทาน สำรวจตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมรองรับฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ // การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนบางลางในช่วงเดือนมกราคม เพื่อวางแผนเก็บกักน้ำช่วงหน้าแล้ง พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเดือนมกราคมด้วย // กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำรวจและรายงานสิ่งกีดขวางทางน้ำช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนปรับปรุงต่อไป

ทั้งนี้ ในภาคกลาง กอนช. ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ แล้วส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น 4 ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ คือ ช่วงวันที่ 6 – 12 มกราคม // ช่วงวันที่ 21 – 27 มกราคม // ช่วงวันที่ 4 – 10 กุมภาพันธ์ และช่วงวันที่ 18 – 24 กุมภาพันธ์


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.