• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 แจงกรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวประเด็น “ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง” แนะประชาชนติดตามสถานการณ์ค่า PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันสุขภาพ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 เมษายน 2566

จากกรณีที่สื่อออนไลน์ได้นำเสนอข่าวประเด็น “ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง”นั้น

นายสุรัตน์ บัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 10 -19 เมษายน 2566 ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสถานี เนื่องจากเพดานการลอยตัวของอากาศอยู่ในระดับต่ำ อัตราการระบายอากาศไม่ดี ดังนั้น สภาพอากาศที่ปิด ไม่มีการไหลเวียนส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในพื้นที่ ซึ่งมีที่มาจากกิจกรรมการคมนาคม การขนส่ง การใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล รวมถึงการทำอาหารปิ้งย่าง การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม เป็นต้น

ขณะที่การประเมินระดับความรุนแรงของค่าคุณภาพอากาศ และแนวโน้มของคุณภาพอากาศจากหมอกควันไฟป่า และฝุ่น PM2.5 คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดี - ปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้นเช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

จากที่มาของฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับเพดานการลอยตัวของอากาศอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ฝุ่นละอองในภาคใต้มีค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ แนวโน้มของคุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) ได้คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียนตอนใต้จะเริ่มเข้าสู่สภาวะเอลนิญโญ่ และมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ อาจส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนตอนใต้ในปี 2566 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการปฏิบัติตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” อาทิ

เร่งการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ ในช่วงสถานการณ์หมอกควันภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม ,

ยกระดับมาตรการ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์และเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ และการกำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ,

ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา) ,

ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง พร้อมสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เปิดโอกาส/ช่องทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ในการวางแผนเสนอแนะแนวทางดำเนินการการติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ค่า PM2.5 จากเว็บไซด์ Air4Thai.com หรือ แอปพลิเคชัน Air4Thai และเฟซบุ๊กสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) และปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

หากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีเหลือง (ค่า PM2.5 38 – 50 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)) ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ,

ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่า PM2.5 51 – 90 มคก./ลบ.ม. ) ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ และหากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM2.5 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.