• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 ธันวาคม 2565

น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ครั้งที่ 1 ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โครงการพัฒนาและบริหารจัดการการคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยสานพลังกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคม

ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ร่วมสนับสนุน“นโยบายให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางโดยมีซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเข้ามาร่วมเป็นกลไกในการทำให้เศษพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำให้ “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” แต่ “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบาย BCG โมเดลตามที่รัฐบาล ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะสนับสนุนนโยบายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในวันนี้ จึงเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจรีไซเคิลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บหรือรับซื้อขยะรีไซเคิลหรือวัสดุเหลือใช้ การฝึกอบรมในวันนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าครั้งที่ 1 จากทั้งหมดจำนวน 5 ครั้ง โดยจะจัดขึ้นกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในเรื่องของความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท การปฏิบัติงานที่เหมาะสม ข้อควรระวังต่อวัตถุอันตรายบางประเภท ที่ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยข้างเคียง การปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันฮีโร่รีไซเคิล เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการซื้อขายขยะรีไซเคิลในอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ” นายปิ่นสักก์ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า การปรับทัศนคติเกี่ยวกับขยะมูลฝอย โดยมองว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง การปฏิบัติงานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า จะต้องมีหน้าที่คัดแยกวัสดุแต่ละชนิดไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก เพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษในพื้นที่โดยรอบ สุขภาพอนามัยผู้ปฏิบัติงานและคนในชุมชน จากการสัมผัสต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สสส. จึงสานพลังกับกรมควบคุมมลพิษ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ยกระดับคุณภาพชีวิตของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่สุขภาพกาย จิต ปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพที่ปลอดภัยต่อชีวิตและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ และรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายองค์กรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า อาชีพ ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในไทยมีมากว่า 100 ปี การยกระดับและเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมาย ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก และนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เป็นการสร้างประวัติศาสตร์สำคัญร่วมกัน ในฐานะนายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าแห่งประเทศไทย ได้จัดเตรียมผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่คนขับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าที่มารวมตัวกันจากทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการเปลี่ยนแปลงอาชีพนี้ให้เกิดการพัฒนา เพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพ โดยหวังว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดงานนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กล่าวว่า ธุรกิจรับซื้อของเก่าเป็นธุรกิจ ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่มักไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการรีไซเคิลเองก็ขาดการพัฒนาองค์ความรู้และรูปแบบธุรกิจที่ทำให้เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการอบรมพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ซาเล้งและผู้ประกอบการของเก่าได้มาร่วมกันพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยี และกลายเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ตามนโยบาย BCG ของประเทศได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ธันวาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลัง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ว่าปัจจุบัน สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 14,098 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 6,000 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำระหว่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะเห็นได้ว่าเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำน้อยและการใช้น้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1 ล้านไร่ ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำมากกว่า และการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยกว่า ทำให้การบริหารจัดการน้ำในปีนี้

กรมชลประทาน จะใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลเป็นหลักสำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมประมาณ 518 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 98% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 458 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566

ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ปัจจุบันหลายจังหวัดได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงบริเวณคลองระบายใหญ่สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังมีน้ำล้นตลิ่ง กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 28 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยเร็ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ทุ่งป่าโมก คงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูก ส่วนทุ่งผักไห่และทุ่งโพธิ์พระยา อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง และจะคงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูกเช่นกัน คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกเสร็จสิ้นในช่วงกลาง-ปลายเดือนธันวาคม 2565 นี้ และแม้ว่าภาพรวมในปีนี้จะมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด จึงอยากฝากทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 ธันวาคม 2565

ประเทศไทย สำรวจประชากรพะยูนปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 300 ตัว หลังคุมเข้มมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟู พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อการอนุรักษ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงสถานภาพพะยูนไทยว่า จากการสำรวจสถานภาพปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และฝั่งทะเลอันดามันพบ 242 ตัว โดยประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี สาเหตุการตายมาจากการเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ ถูกกระแทกด้วยของแข็ง เงี่ยงปลากระเบนแทง อุบัติเหตุ เครื่องมือประมง ภาพรวมการเกยตื้นของพะยูนระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการป่วยร้อยละ 73 ส่วนระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 พบพะยูนเกยตื้นรวม 7 ตัว เป็นการเกยตื้นในจังหวัดระยอง 1 ตัว , ชลบุรี 1 ตัว , ตรัง 2 ตัว , กระบี่ 1 ตัว , สุราษฎร์ธานี 2 ตัว สาเหตุจากการป่วย 3 ตัวร้อยละ 43 // ถูกกระแทกด้วยของแข็ง (กระดูกซี่โครงหัก) 2 ตัว ในจังหวัดตรังและชลบุรี //การป่วยร่วมกับคาดว่าติดเครื่องมือประมง 1 ตัว และไม่ทราบสาเหตุจากสภาพซากเน่ามาก 1 ตัว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูนที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาได้ทำงานแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนและสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอดภายใต้“มาเรียมโปรเจค” สามารถเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนในธรรมชาติจาก 250 เป็น 273 ตัว แล้วในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 280 ตัว โดย ทช. ยังได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูนตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน แทนการใช้เรือประมงออกลาดตระเวน พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้มีคนเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมายที่จะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูนได้

สำหรับพะยูนในประเทศไทยพบแพร่กระจายอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แบ่งเป็นกลุ่มประชากรย่อยที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะต่างๆ คือ เกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง , เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ , เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา , อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต , เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล , เกาะพระทอง จังหวัดพังงา , หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด , อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี , ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง , อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี , อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และอ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 ธันวาคม 2565

วานนี้ (5 ธันวาคม 2565) เวลา 13.30 น. นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดทดสอบระบบศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน Soft Opening : World beneath the sea พร้อมด้วย นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลักอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีเปิดฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ณ อาคารศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี

อาคารศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน (World Beneath the Sea) สร้างขึ้นจากความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภายในอาคารประกอบไปด้วย ส่วนจัดแสดงจำลองระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงตู้จัดแสดงสัตว์ทะเล และพันธุ์ปลาทะเล พร้อมทางเลื่อนอุโมงค์ตู้ปลาขนาดใหญ่ (Big Tank) ที่มีความลึก 13 เมตร มีความจุน้ำ 4,700 ลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเล และห้องวิดีทัศน์ โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการนำเสนอในส่วนของนิทรรศการ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ และเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศภายในศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน

ทั้งนี้ได้เปิดทดสอบระบบในวันที่ 5 ธันวาคม 2565 เป็นวันแรก ซึ่งมีกิจกรรมประกอบไปด้วย การแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การแสดงนิทรรศการให้ความรู้ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลสำหรับเยาวชน การแสดงการปฏิบัติงานของโดรนใต้น้ำ และชมโชว์ชุดเงือก และกิจกรรมอื่นๆ ให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยสามารถเข้าชมได้ทั้งส่วนสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลเดิมและอาคารศูนย์การเรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน มีราคาบัตรเข้าชม เด็ก 40 บาท และผู้ใหญ่ 80 บาท โดยรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้จาก เฟซบุ๊กเพจ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา https://www.facebook.com/bimsthailand


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด ช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางสูงขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่อง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ฉบับที่ 56 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศพบจะมีฝนตกหนักช่วงวันที่ 8 - 9 ธันวาคม จากอิทธิพลร่องมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม จำเป็นต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังใน จ.ชุมพร บริเวณอำเภอละแม // ภูเก็ต บริเวณอำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสักและเมืองสุราษฎร์ธานี // นครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม // พัทลุง บริเวณอำเภอเขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา // สงขลา บริเวณอำเภอกระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ // ตรัง บริเวณอำเภอกันตัง // สตูล บริเวณอำเภอเมืองสตูล // ปัตตานี บริเวณอำเภอไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ // ยะลา บริเวณอำเภอรามัน เมืองยะลา และยะหา // นราธิวาส บริเวณอำเภอเมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ

พร้อมทั้ง ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก รวมทั้ง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำโดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ด้วยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 ธันวาคม 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ (ทสม.) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2565

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เนื่องด้วยวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ (ทสม.) ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี โดยปีนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “ลมหายใจในอนาคต กำหนดได้ด้วยมือเรา” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล องค์กร ชุมชนที่มีกิจกรรมหรือมีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่นให้สาธารณชนได้รับรู้และเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้ง ยังคงเดินหน้าแนวทางป้องกันและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียสตามที่ประกาศไว้บนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ทั้งนี้ ได้เน้นการใช้แรงขับเคลื่อนของ ทสม. เป็นกำลังสำคัญแนวหน้าดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้องค์ความรู้กับประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเครือข่าย ทสม. ครอบคลุมทั่วประเทศ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร 279,769 คน

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญของโลก โดยเฉพาะปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการผันแปรของธรรมชาติทำให้วิกฤติธรรมชาติรุนแรงมากขึ้นและกระทบการใช้ชีวิตจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลง แล้วหันมาอนุรักษ์ปกป้องสิ่งแวดล้อมแทน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และคุ้มค่าที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 ธันวาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและระบบส่งน้ำ พร้อมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อผันน้ำมาเติมให้กับพื้นที่รับประโยชน์ของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านอุโมงค์ผันน้ำเชื่อม 2 จังหวัด ที่มีความยาวมากถึง 710 เมตร แต่เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำมาเติมยังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ซึ่งอยู่บนพื้นที่ภูเขาได้โดยตรง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนมีขนาดเล็กไม่สามารถผันน้ำมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด จึงได้พิจารณาเพิ่มระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน จากปริมาณความจุเดิมประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังได้ทำการก่อสร้างถนนตามแนวท่อส่งน้ำและระบบส่งน้ำฯ แล้วเสร็จเมื่อปี 2546 พร้อมขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาอีก 168 แห่ง แล้วเสร็จในปี 2553 โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 16,600 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นับเป็นการแบ่งปันน้ำ(ใจ) จากชาวมุกดาหารไปสู่ชาวกาฬสินธุ์ ได้มีน้ำต้นทุนไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งมั่นแก้ไขให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังได้พระราชทานชื่ออุโมงค์ผันน้ำที่ผันจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มาให้พื้นที่การเกษตร ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งหมายความว่า อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ช่วงวันที่ 3 – 5 ธันวาคมนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (1 ธ.ค.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส พัทลุง และ จ.ยะลา ทำให้ต้องเฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งช่วงวันที่ 3 – 5 ธันวาคมนี้ โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่ง และระวังอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,646 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75


  1. กอนช. เฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ช่วง 3 – 5 ธ.ค.นี้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำขัดวัชพืชที่ขวางทางน้ำ
  2. ก.ทรัพย์ เตรียมจัดงาน “วันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ (ทสม.)” ประจำปี 65 เน้นการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
  3. กอนช. ยังคงเฝ้าระวังฝนหนักบางแห่งในภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือฝน โดยเฉพาะ กทม.
  4. กฟผ. เดินหน้าโครงการ EGAT TOGETHER นำทีมนักดำน้ำจิตอาสา และเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ดำน้ำเก็บขยะ ตัดอวน กระตุ้นคนไทยร่วมอนุรักษ์ระบบนิเวศใต้ทะเลอย่างยั่งยืน
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.