• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 เมษายน 2566

วันที่ 3 เมษายน 2566 นายชัชวาล ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มอบหมายให้ นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุมศูนย์รวบรวมข้อมูลและสั่งการ (War Room) ระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง

จากการติดตามจุดความร้อน (Hotspot) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2566 รวมทั้งหมด 460 จุด และวันที่ 1-3 เมษายน 2566 รวม 363 จุด และค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 55 วัน เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 29 วัน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 26 วันทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในวันที่ 2-3 เมษายน 2566 พบว่าที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 4 สถานี มีค่าคุณภาพอากาศที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ระดับ "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ"


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 เมษายน 2566

นายเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ด้านมาตรฐาน เปิดเผยถึงมาตรการรับมือกรณีค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มส่งผลกระทบด้านการบิน ว่า ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ทั้ง 29 แห่ง มีมาตรการดำเนินงานกรณีเข้าสู่สภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility Procedure) ตามขั้นตอนและมาตรฐานในทันที เมื่อเกิดสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานภายในเขตการบิน รวมถึงส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการบินของอากาศยาน เช่น เกิดกลุ่มควันไฟมาก หมอกหนา หรือฝนตกหนัก จนทำให้เกิดทัศนวิสัยต่ำ ตั้งแต่ 550 - 500 เมตร หรือต่ำกว่า

โดยหอควบคุมการบินจะเป็นหน่วยงานในการแจ้ง ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการทั้งหมด หยุดปฏิบัติงานในเขตพื้นที่การบิน จนกว่าจะได้รับการยกเลิก หรือการยกระดับการแจ้งเตือนทัศนวิสัยต่ำ ซึ่งการกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การแจ้งเข้าสู่สภาวะทัศนวิสัยต่ำจะขึ้นอยู่กับแต่ละสนามบินเป็นผู้กำหนด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินล่าช้า หรือไม่สามารถลงจอดได้เนื่องจากทัศนวิสัยต่ำ ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ ทัศนวิสัย (Visibility) จากสภาพอากาศมากกว่า 550 เมตร หอควบคุมการบินจะยกเลิกแจ้งเตือนทัศนวิสัยต่ำ ส่วนเจ้าหน้าที่สนามบินจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้ประกอบการทั้งหมดทราบเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร ไว้อำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงด้านความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และด้านสาธารณสุข รองรับผู้มาใช้บริการ

นอกจากนี้ กรมท่าอากาศยาน ยังมีมาตรการรณรงค์ลดฝุ่น PM2.5 ภายในท่าอากาศยาน เช่น ตรวจวัดควันดำของรถที่ใช้งานในเขตการบิน (Airside) การรับส่งผู้โดยสาร บริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร หรือบริเวณลานจอดรถภายในสนามบิน ต้องทำการดับเครื่องยนต์และไม่อนุญาตให้ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ส่วนพื้นที่ใดมีการก่อสร้างต้องปล่อยละอองน้ำดักจับฝุ่น ฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุก หรือรถอื่นๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง และควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 เมษายน 2566

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่น และการเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรว่า เพื่อเป็นต้นแบบ และฐานข้อมูลปัจจุบัน ที่เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถสืบค้นแต่ละพื้นที่ได้ง่าย ตามโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรในตัวเกษตรกรหรือชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ และคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปีละ 6 จุด รวมจำนวน 18 จุด เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาจากในพื้นที่ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องสู่ความต่อเนื่องและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2566 นี้ ภูมิปัญญาผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบ้านดงน้อย ภูมิปัญญาการย้อมผ้าของชาวบ้านดงน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มีการเก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2565 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ มีการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อยอย่างต่อเนื่อง มีการจัดเวทีชุมชนถอดบทเรียนแบบละเอียดเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ระบบมรดกทางการเกษตร การสร้างเครือข่ายด้านการตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างรายได้ การเป็นแหล่งเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และด้วยความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับสมาชิก ถือเป็นต้นแบบของการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และรักษาสิ่งดีงามให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 มีนาคม 2566

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากที่เมื่อวานนี้ (30 มีนาคม 2566) ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการภารกิจพื้นที่ไฟป่าจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบริเวณเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก บริเวณด้านหลังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และได้ลุกลามไปยังเขาแหลมที่อยู่ติดกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้เคียงกับเขาชะพลู เขาแหลม จ.นครนายก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มเมฆที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.จันทบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ไฟป่าเขาชะพลู เขาแหลม จ.นครนายก โดยทิศทางลมขณะปฏิบัติการเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ระดับความสูง 5,000-10,000 ฟุต ส่งผลให้กลุ่มเมฆที่พัฒนาตัวก่อให้เกิดฝน เคลื่อนตัวไม่ถึงพื้นที่ปัญหาไฟป่า โดยในวันนี้ยังคงมีไฟลุกลามบริเวณสันเขาอยู่นั้น ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้สั่งการและเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวางแผนเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเช้าวันนี้จากข้อมูลสภาพอากาศพบว่ามีความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60% เป็นค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่สามารถก่อเมฆได้ และมีโอกาสเกิดฝนตก หน่วยฯ จันทบุรี จึงได้วางแผนบินในเวลา 08.50 น. โดยใช้เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 3 ลำ ปฏิบัติการ 3 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง จำนวน 2,100 กิโลกรัม บินที่ความสูง 6,500 ฟุต บริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถึงอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่การเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี และพื้นที่ไฟป่าจังหวัดนครนายก สำหรับสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองทางพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและมีสาถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทุกวัน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง และพะเยา ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมา และในวันนี้ หน่วยฯ เชียงใหม่ ได้วางแผนบินช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดเชียงราย และแม่ฮ่องสอน หน่วยฯ แพร่ ช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณจังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 มีนาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดเชิงรุก โดยให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านประชาสัมพันธ์และป้องปรามการลักลอบเผาป่า หากพบกระทำผิดบังคับใช้กฎหมายทันที

นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ร่วมกันประชุมติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน (ส่วนหน้าภาคเหนือ) ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดภาคเหนือ บริเวณสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)หลังจากได้ยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองช่วงสถานการณ์วิกฤติเป็นการเร่งด่วน เบื้องต้นกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการเชิงรุกและหยุดการเผาป่า ด้วยการให้ปิดป่าส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรง พร้อมระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์เครื่องมือ อากาศยานในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น เนื่องจากปัญหาไฟป่าเป็นวิกฤติระดับชาติให้ร่วมกับฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหาไฟป่าเคาะประตูบ้านเพื่อประชาสัมพันธ์และป้องปรามการลักลอบเผาป่า หากพบการกระทำความผิดจับกุมดำเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันให้กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้จัดทำแผนการหรือมาตรการลดและจัดการจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติรายพื้นที่

ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญและต้องแสดงสถานะตำแหน่งระหว่างปฏิบัติงานตลอดเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ รวมทั้ง ให้บริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า (WAR ROOM) อย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังอย่าให้ไฟป่าลุกลามเป็นวงกว้าง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 มีนาคม 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งควบคุมและดับไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อลดจุดความร้อนและผลกระทบฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจและบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดของประเทศว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควันยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนอย่างเมียนมาและ สปป.ลาว พบมีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวนมากติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้หมอกควันหนาแน่นปกคลุมจนกระทบประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่ติดกับทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ทำให้หมอกควันลอยข้ามแดนมาผสมกับฝุ่น PM 2.5 ในประเทศจนเกิดค่าสูงขึ้นในระดับวิกฤติ ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ดับและควบคุมไฟป่าต่อเนื่อง ส่วนมาตรการแก้ปัญหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำให้กรมอุทยานฯทำงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการจัดชุดกำลังผสมร่วมกับท้องถิ่นและฝ่ายปกครองเข้าพูดคุยกับประชาชนที่่เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่า เพื่อเน้นย้ำจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือและใครฝ่าฝืนต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะการเผาป่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากประชาชนกำลังเร่งเผาทั้งในเขตป่าและนอกเขตป่าเพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบใหม่ช่วงฤดูฝน รวมถึง กลุ่มที่เข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์ป่า และบุกรุกป่าด้วยการเผา จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าปฏิบัติหน้าที่ติดต่อมากว่า 2 เดือนแล้วจนเริ่มเกิดความเหนื่อยล้า แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความเสียหายจากไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า พบพื้นที่ป่าเสียหายโดยสิ้นเชิงไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกิดไฟไหม้บริเวณหน้าดิน ซึ่งปกติจะสามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติ ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนเกิดไฟป่ารุนแรงมากกว่าถึง 2 เท่า เนื่องจากมีการสะสมของเชื้อเพลิงในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไฟลุกลามเร็วและเป็นวงกว้าง เช่น การเกิดไฟป่าในพื้นที่ภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย ที่เกิดจากไฟป่าในพื้นที่และไฟป่าที่รุกลามมาจาก สปป.ลาว แต่ด้วยพื้นที่มีลักษณะทุ่งหญ้า ทำให้การฟื้นฟูไม่ยากหากฝนตกลงมาจะทำให้หญ้าแตกยอดอ่อนฟื้นฟูกลับมาได้ คาดการณ์สถานการณ์ไฟป่ายังต้องเฝ้าระวังไปจนถึงกลางเดือนเมษายนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 มีนาคม 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดของฝุ่น PM2.5 ว่า จากข้อมูลของจิสด้า หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประเทศไทยพบจุดความร้อนทั้งสิ้น 5,396 จุด ซึ่งจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน พบ 555 จุด แม่ฮ่องสอน 429 จุด และ อุตรดิตถ์ 382 จุด โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการยกระดับมาตรการการป้องกันการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเร่งด่วน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการระดมเครือข่ายอาสาสมัครอุปกรณ์เครื่องมือ ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง เพื่อปฏิบัติการณ์เฝ้าระวังการดับไฟอย่างเข้มข้น กระทรวงมหาดไทยมีการกำชับไปยังจังหวัดห้ามเผาทุกพื้นที่ทุกกรณี รวมถึงให้มีการบริการหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อลาดตระเวนเฝ้าระวัง กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการกำชับให้ โรงงานน้ำตาล งดรับอ้อยไฟไหม้ สำหรับกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ได้มีการพิจารณามาตรการเรื่องของการจำกัดเวลาพื้นที่ และปริมาณสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง รวมถึงให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กับผู้ลักลอบเผาและผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการปฎิบัติการทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย มีการจัดให้ทำห้องปลอดฝุ่น มีการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเท่าที่จำเป็น รวมถึงยารักษาโรคในพื้นที่ พร้อมเร่งจัดบริการด้านการแพทย์ โดยการจัดรถคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสุขภาพและให้ความรู้กับประชาชน ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการพูดคุยพร้อมสั่งการไปทางเอกอัครราชทูต เร่งประสานขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร

อีกทั้งนายกรัฐมนตรี ยังใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานทางด้านหน่วยงานความมั่นคงเพิ่มเติมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอความร่วมมืองดการเผาในพื้นที่การเกษตร รวมถึงขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนของไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ช่วยดูแลเรื่องการเผาในพื้นที่เกษตรในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 มีนาคม 2566

ประเทศไทย ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเน้นความสำคัญการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ในเวทีการประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ“น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำ ได้ร่วมประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ค.ศ. 2018 – 2028 ครั้งที่ 2 (UN 2023 Water Conference) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤติน้ำทั่วโลกและตัดสินใจดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ตกลงกันในระดับสากล พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ และผลักดันประเด็นด้านน้ำของโลกไปสู่การบรรลุทศวรรษแห่งการดำเนินงานด้านน้ำ (Water Action Decade) โดยประเทศไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในนามรัฐบาลไทยเน้นความสำคัญการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล โดยเฉพาะน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมถึง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยืดหยุ่นรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำต่างๆ ทั้งนี้ ยังได้เน้นให้เร่งผลักดันขับเคลื่อนการปฏิบัติการด้านน้ำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2030 เช่น การลดช่องว่างทางการเงินสำหรับการพัฒนาและลงทุนด้านน้ำ การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในระดับประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่คำนึงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้ง เร่งเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านน้ำผ่านการยกระดับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าน้ำให้กับเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ร่วมสนับสนุนผ่านถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ สำหรับการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านน้ำของสหประชาชาติ (UN Special Envoy on Water) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับนโยบายด้านน้ำให้เป็นรูปธรรม และสามารถบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลภายในปี 2030 ส่วนการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้องไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมพร้อมนำเสนอถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการที่ดีด้วย สำหรับการประชุมครั้งนี้เน้น 5 สาระสำคัญที่สนับสนุนเป้าหมายและตัวชี้วัดของ SDG 6 คือ ให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ประกอบด้วย น้ำเพื่อสุขภาพ // น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน // น้ำเพื่อสภาพภูมิอากาศ // น้ำเพื่อความยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อม // น้ำเพื่อความร่วมมือและทศวรรษของการปฏิบัติการด้านน้ำ


  1. กอนช. เฝ้าระวังเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง
  2. ภาคเหนือ ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังวิกฤติ โดยเฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่อยู่ในระดับสีแดง พบสูงสุดบริเวณ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถึง 351 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  3. กรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรัง 2) ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
  4. กอนช. เฝ้าระวังเกิดฝนตกในภาคตะวันออก ภาคอีสานตอนล่าง และภาคใต้ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำเร่งสูบน้ำเติมแหล่งน้ำดิบระบบประปาหมู่บ้านในนครสวรรค์
© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.