• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 มีนาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาหากเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จขอให้งดปลูกข่าวนาปรังรอบ 2

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (26 มี.ค.66) ว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นครราชสีมา , เชียงใหม่ และสตูล สำหรับสภาพอากาศถึงวันที่ 29 มีนาคม บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนบริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึง อาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ด้านภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรองรับหน้าแล้งอย่างเคร่งครัด เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้นำกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน 4 นาย , กำลังพลชุดเคลื่อนที่เร็ว 4 นาย , รถประปาสนามเคลื่อนที่ 1 คัน , รถบรรทุกน้ำขนาด 9,000 ลิตร 1 คัน และ รถบรรทุกขนาดเล็ก 1 คัน ดำเนินการแจกจ่ายน้ำบริโภค 6,000 ลิตร และน้ำอุปโภค 2 เที่ยว ปริมาณน้ำ 18,000 ลิตร ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง บริเวณบ้านดงยาง ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร // กรมชลประทาน ได้จัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังช่วงหน้าแล้ง ปี 65/66 ทั่วประเทศแล้ว 19,682 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,113 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ 9.96 ล้านไร่ หรือร้อยละ 96 ของแผนฯ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 6.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 95 ของแผนฯ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ 2) เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำหน้าแล้ง และรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.