สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 29 มีนาคม 2566
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งควบคุมและดับไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อลดจุดความร้อนและผลกระทบฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจและบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดของประเทศว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควันยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนอย่างเมียนมาและ สปป.ลาว พบมีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวนมากติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้หมอกควันหนาแน่นปกคลุมจนกระทบประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่ติดกับทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ทำให้หมอกควันลอยข้ามแดนมาผสมกับฝุ่น PM 2.5 ในประเทศจนเกิดค่าสูงขึ้นในระดับวิกฤติ ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ดับและควบคุมไฟป่าต่อเนื่อง ส่วนมาตรการแก้ปัญหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำให้กรมอุทยานฯทำงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการจัดชุดกำลังผสมร่วมกับท้องถิ่นและฝ่ายปกครองเข้าพูดคุยกับประชาชนที่่เข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่า เพื่อเน้นย้ำจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือและใครฝ่าฝืนต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะการเผาป่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากประชาชนกำลังเร่งเผาทั้งในเขตป่าและนอกเขตป่าเพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบใหม่ช่วงฤดูฝน รวมถึง กลุ่มที่เข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์ป่า และบุกรุกป่าด้วยการเผา จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าปฏิบัติหน้าที่ติดต่อมากว่า 2 เดือนแล้วจนเริ่มเกิดความเหนื่อยล้า แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับความเสียหายจากไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า พบพื้นที่ป่าเสียหายโดยสิ้นเชิงไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เกิดไฟไหม้บริเวณหน้าดิน ซึ่งปกติจะสามารถฟื้นฟูได้เองตามธรรมชาติ ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนเกิดไฟป่ารุนแรงมากกว่าถึง 2 เท่า เนื่องจากมีการสะสมของเชื้อเพลิงในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไฟลุกลามเร็วและเป็นวงกว้าง เช่น การเกิดไฟป่าในพื้นที่ภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย ที่เกิดจากไฟป่าในพื้นที่และไฟป่าที่รุกลามมาจาก สปป.ลาว แต่ด้วยพื้นที่มีลักษณะทุ่งหญ้า ทำให้การฟื้นฟูไม่ยากหากฝนตกลงมาจะทำให้หญ้าแตกยอดอ่อนฟื้นฟูกลับมาได้ คาดการณ์สถานการณ์ไฟป่ายังต้องเฝ้าระวังไปจนถึงกลางเดือนเมษายนนี้