• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ช่วงวันที่ 13 - 18 สิงหาคมนี้ หลังเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “มู่หลาน”

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ฉบับที่ 27 หลังติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงพบพายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเวลา 07.00 น. บริเวณเมืองลางซอนประเทศเวียดนาม คาดว่า จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับ มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำโขง จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงวันที่ 13 - 18 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ กอนช.ยังได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงพบสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.01 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 13 – 14 สิงหาคม ประมาณ 80 เซนติเมตร – 1.20 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.34 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 13 - 16 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.40 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 14 - 17 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.55 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 14 - 17 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // ตั้งแต่สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร จนถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งเฉลี่ย 5.65 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 15 - 18 สิงหาคม ประมาณ 80 เซนติเมตร – 1 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังขอให้จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แจ้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมบริเวณแม่น้ำโขงและผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักตอนบนของประเทศและภาคตะวันออก พร้อมเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และในภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน 70 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 99 มิลลิเมตร และกาญจนบุรี 39 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 47,042 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ดทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เทศบาลนครแม่สอด และ อบต.แม่ปะ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 6 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่หลังจากเกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและผิวการจราจรในพื้นที่บ้านร่วมใจพัฒนา 10 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ระดับน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งวันที่ 12 สิงหาคม โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลหนุนสูงพบแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ช่วงวันที่ 10 - 16 สิงหาคม เวลาประมาณ 18.00 - 21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง คาดช่วงดังกล่าว ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 - 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำป่าสักและผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 4 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา และป่าสักชลสิทธิ์ เบื้องต้นกรมชลประทานได้ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำขึ้นจากอัตรา 80 – 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 13 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (9 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.ตราด 204 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 119 มิลลิเมตร และเชียงใหม่ 92 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,768 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ดทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่เข้าเร่งลดระดับน้ำในคลองในพื้นที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำตามสถานีต่างๆ เพื่อเป็นการพร่องน้ำและลดระดับน้ำในคูคลองป้องกันปัญหาน้ำท่วมชังในกรุงเทพมหานคร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 16 จังหวัด พร้อมติดตามปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกหนัก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (8 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.น่าน 201 มิลลิเมตร , จันทบุรี 183 มิลลิเมตร และตราด 181 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,607 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมชลประทาน เร่งผันน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการขาดแคลนน้ำในการทำนาในฤดูทำนา ในพื้นที่ ต.หานโพธิ์ ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน ต.ควนมะพร้าว ต.ตำนาน อ.เมือง จ.พัทลุง เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงท่อระบายน้ำกลางคลอง LMC (ควนกุฏิ) 5 จุด หลังจากปรับปรุงท่อระบายน้ำดังกล่าวให้แล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ สามารถเก็บกักน้ำและส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรช่วงหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เสี่ยงน้ำล้น และอาจส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายอ่างอ่างเก็บน้ำ จึงให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่พบมี 2 แห่งที่มีความเสี่ยงปริมาตรน้ำเต็มความจุ และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จากการคาดการณ์ปริมาณฝนสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 122.2 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 70.8 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะทำให้มีปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างวันที่ 13 สิงหาคม หากระบายน้ำด้วยอัตราคงที่ 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จากการคาดการณ์ปริมาณฝนสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 187.9 มิลลิเมตร และคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 69.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะทำให้มีปริมาตรน้ำเต็มความจุอ่างวันที่ 13 สิงหาคม หากระบายน้ำด้วยอัตราคงที่ 2.6 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 7 – 9 สิงหาคมจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้ช่วงวันที่ 10 – 14 สิงหาคมมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่องและบริหารจัดการน้ำ โดยใช้อาคารชลศาสตร์พร้อมระบบชลประทานเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำในลำน้ำ เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 สิงหาคม 2565

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีปิดโครงการ PTT Virtual Run โครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” และ “พิธีเปิดโครงการ “ลมหายใจเพื่อเมือง” ปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมือง โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธี ณ ที่ดิน ปตท. ถ.กำแพงเพชร 6 กรุงเทพมหานคร

โดยผู้ว่าฯกทม.พร้อมคณะ วิ่งจากสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร ผ่านพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ถ.กำแพงเพชร 6 เขตจตุจักร (ระยะทาง 6.5 กม.) โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ต้อนรับคณะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ MOCA Bangkok และร่วมวิ่งสมทบไปยังที่ดิน ปตท. ถ.กำแพงเพชร 6 (ระยะทาง 800 เมตร)สถานที่จัดงาน รวมระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร

“โครงการลมหายใจเดียวกัน” จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่อเนื่องด้วย “โครงการลมหายใจเพื่อน้อง” ช่วยเหลือเยาวชนจากวิกฤตการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงชั้นรอยต่อ ภายในงานวันนี้จึงจัดพิธีมอบเงินสนับสนุนแก่ กสศ. เพื่อจัดตั้ง “กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา” งบประมาณ 20 ล้านบาท

เบื้องต้นสามารถช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางสังคม อย่างน้อย 241 คน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในปี 2565 อีกทั้งที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนช่วงชั้นรอยต่อที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจกว่า 60,000 คน จาก 17,432 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ทั้งสิ้น 171 ล้านบาท

ในวันเดียวกันนี้ ปตท. เริ่มดำเนินโครงการ “ลมหายใจเพื่อเมือง” สนับสนุนเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดย ปตท. จะร่วมปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น ในพื้นที่ของ ปตท.และพื้นที่ของ กทม. เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่มอายุยาว และไม้เถาที่มีเนื้อไม้ เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ ต้นประดู่ป่า ต้นรวงผึ้ง ต้นไทรย้อยใบแหลม

นำร่องพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ปตท. ที่จะพัฒนาใช้ประโยชน์และมุ่งให้เกิดพื้นที่สีเขียวควบคู่กันต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายการเชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียวของ กทม. เริ่มตั้งแต่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ จนได้รวบรวม พัฒนาองค์ความรู้มาเป็นสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ในปัจจุบัน พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปตท.ได้กำหนดกลยุทธ์ 3P ได้แก่ Pursuit of lower emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการ Portfolio Transformation ปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจสู่ธุรกิจสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Partnership with nature and society ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่า ร่วมกับภาครัฐและชุมชน มุ่งสู่การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งดำเนินงานทั้งหมดจะร่วมผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายเพื่อสนับสนุนนโยบาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของรัฐบาล ต่อไป

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมืองคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ใช่จะโยนทุกอย่างให้กทม.ดูแลแต่เพียงผู้เดียว กทม.มีหน้าที่ดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้วตามหน้าที่ แต่หมายถึงการที่ทุกคนต้องร่วมกันดูแลเมืองให้ดีขึ้นและเป็นการส่งต่อเมืองที่มีคุณภาพให้กับคนรุ่นใหม่ ต้นไม้ที่โตในปัจจุบันนั้น คือต้นไม้ที่คนเมื่อ 20 ปีก่อนปลูกเอาไว้ให้ ถ้าเราจะส่งเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อให้คนรุ่นต่อไป เราก็ต้องเริ่มลงทุนและเริ่มปลูกตั้งแต่วันนี้"


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่มในพื้นที่ 5 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (6 ส.ค.65) ว่า มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน 91 มิลลิเมตร , บึงกาฬ 89 มิลลิเมตร และตราด 76 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก และระยอง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,525 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ด้วยการติดตั้งสะพานเบลีย์ข้ามลำน้ำแม่สาบ บริเวณพื้นที่ ต.ยังเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง และเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 สิงหาคม 2565

นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้ายกระดับประเทศไทยปรับแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส พร้อมมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC) บริเวณรอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งในการประชุมนี้เป็นการจำลองรูปแบบของการจัดประชุม COP มาเป็น COP Thailand มาดำเนินการจัดในระดับประเทศภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ” ต้องการสื่อความหมายในเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ถือเป็นประเทศแรกของโลก เพื่อย้ำให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยตื่นตัวและดำเนินการป้องกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังตามที่ได้ให้สัญญาไว้ต่อนานาประเทศว่าสามารถทำตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ได้ โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก" ว่า รัฐบาลไทย ยืนยันเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ได้ตามแผนที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้บนเวทีโลก เพราะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกกระทบต่อพืชเศรษฐกิจและแหล่งอาหารที่กลายเป็นภัยคุกคามระดับโลก ซึ่งไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องและคาดการณ์ไม่ได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน พร้อมเดินหน้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้น เพื่อเพิ่มคาร์บอนเครดิตในประเทศและบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับพัฒนามาตรการรองรับต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลัง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนพื้นที่ท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ มาเป็นจุดแข็งในการใช้เตรียมรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย ที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้พยายามยกระดับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและมุ่งบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส ด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เท่ากับต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลงให้ได้ร้อยละ 45 ในปี 2573 พร้อมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นควบคู่กันอย่างสมดุล

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี , แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทต่างๆ 3 องค์ประกอบ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม // การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึง การพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยที่เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่น พร้อมย่อส่วนการนำเสนอเป้าหมายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนของแต่ละประเทศมาเป็นแต่ละจังหวัดของไทย พร้อมให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือขับเคลื่อนมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชนและภาคีเครือข่ายร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 สิงหาคม 2565

กรมชลประทาน แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 499 ลบ.ม./วินาที (เวลา 06.00 น.) เป็นอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันนี้ (4 ส.ค. 65) และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2-10 สิงหาคม 2565 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันได้

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (4 ส.ค. 65 เวลา 12.00 น.) ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 784 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.77 เมตร มีการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยและคลองสาขาต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน


  1. นายกฯ เตรียมปาฐกถาพิเศษเวทีการประชุมภาคีด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรกของประเทศไทย 5 สิงหาคมนี้
  2. คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อนุญาตใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ 24 คำขอ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดและต้องเร่งรัดยื่นเอกสารให้ครบภายใน 30 ส.ค.นี้
  3. กรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติชาติ พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
  4. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมปรับลดการระบายน้ำลงลดผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.