• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 22 จังหวัดช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม พร้อมระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 20 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ช่วงวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย ประกอบกับ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เบื้องต้นได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม คือ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในภาคเหนือ บริเวณอำเภอเชียงคำ ปง และภูซาง จังหวัดพะเยา , อำเภองาว แจ้ห่ม เมืองปาน และวังเหนือ จังหวัดลำปาง , อำเภอร้องกวาง วังชิ้น และสอง จังหวัดแพร่ , อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก , อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี และหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอำเภอด่านซ้าย และปากชม จังหวัดเลย , อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู , อำเภอกุมภวาปี ทุ่งฝน นายูง น้ำโสม บ้านดุง บ้านผือ พิบูลย์รักษ์ เพ็ญ วังสามหมอ สร้างคอม และหนองหาน จังหวัดอุดรธานี , อำเภอท่าบ่อ เฝ้าไร่ โพธิ์ตาก โพนพิสัย เมืองหนองคาย รัตนวาปี สระใคร และสังคม จังหวัดหนองคาย , อำเภอกุดบาก คำตากล้า เจริญศิลป์ นิคมน้ำอูน บ้านม่วง ภูพาน วานรนิวาส วาริชภูมิ ส่องดาว และอากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร , อำเภอกุดชุม ทรายมูล ป่าติ้ว เมืองยโสธร และเลิงนกทา จังหวัดยโสธร , อำเภอเทพสถิต หนองบัวแดง และเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ , อำเภอเขาสวนกวาง ชนบท เมืองขอนแก่น และอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น , อำเภอเขาวง คำม่วง นาคู สมเด็จ และสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอโพนทอง และหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด , อำเภอชานุมาน พนา เมืองอำนาจเจริญ ลืออำนาจ และหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ , อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา , อำเภอเขมราฐ โขงเจียม ตระการพืชผล ตาลสุม นาจะหลวย นาตาล พิบูลมังสาหาร โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ศรีเมืองใหม่ และสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี // ภาคใต้ บริเวณอำเภอกระบุรี กะเปอร์ และเมืองระนอง จังหวัดระนอง , อำเภอ พะโต๊ะ และเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร , อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

รวมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และแม่น้ำตาปี พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร , อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ บริเวณจังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี , ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราด และภาคใต้ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ // วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กรกฎาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดึงอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เป็นเครือข่ายแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปงสภาพภูมิอากาส ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อน การสร้างเสริมสุขภาพ และการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการรักษา กระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมให้เอื้อต่อการมีสภาวะสุขภาพสมบูรณ์ ที่เปลี่ยนจากมิติการรักษาโรคไปสู่มิติสร้างสุขภาวะ และการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โดยสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เดินแผนงานต่างๆ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงสนับสนุนบทบาทภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองในรูปแบบ “เครือข่ายอาสาสมัคร” ภาพรวมมีอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครกว่า 270,000 คน รวมทั้ง ยังมีอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เครือข่ายผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เครือข่ายป่าชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ป่า และอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และการป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แล้วยังเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในทุกปีด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า การพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต้องส่งเสริมทุนทางสังคม ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพคนในชุมชนให้มีศักยภาพ มีจิตสำนึกสาธารณะ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับส่งเสริมสิทธิชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น การสร้างรายได้เสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (8 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี 187 มิลลิเมตร , ตราด 128 มิลลิเมตร และน่าน 76 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,734 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช.ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมกับประชาชนติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากลำทะเมนชัย เดิมสระน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้านบ้านหนองจานเหนือ ต.ช่องแมว อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 185 หลังคาเรือน รวม 853 คน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังน้ำหลาก – ดินถล่มใน 7 จังหวัด ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยและกรมทรัพยากรน้ำเร่งหาแหล่งน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 7 - 10 กรกฎาคมประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน109 มิลลิเมตร , นราธิวาส 56 มิลลิเมตร และอุดรธานี 52 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังน้ำหลาก - ดินถล่ม บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ระยอง จันทบุรี ตราด และพังงา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,805 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง

ทั้งนี้ กอนช.ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เร่งพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ เร่งทำโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ห้วยทับทัน,ห้วยพอก ต.ยางสว่าง อ.รัตบุรี จ.สุรินทร์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 กรกฎาคม 2565

ประเทศอาเซียนตอนล่าง 5 ประเทศ เดินหน้าแผนพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนปีนี้ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยเฉพาะการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุในภาคใต้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 23 (23’d MSC) ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำประเทศมาเลเซีย และรัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐในกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อรับรองผลการประชุมคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ โดย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า แต่ละประเทศได้รายงานการเตรียมพร้อมรับมือหมอกควันข้ามแดนในอาเซียนตอนล่าง ซึ่งไทยได้เตรียมแผนป้องกันไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ การรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการใช้แบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7 วันช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังพิจารณากลยุทธการจัดการป่าพรุในพื้นที่อาเซียนตอนล่าง เพื่อให้การแก้ปัญหาไฟจากป่าพรุโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีการจัดการอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า หน้าแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่างช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงหน้าแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง ทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ ทั้งป่าพรุภายในประเทศและป่าพรุบริเวณเกาะสุมาตรา ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดนส่งผลกระทบภาคใต้ของไทยและภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมภายในประเทศ โดย คพ.ได้จัดประชุมหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้เตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคใต้ปีนี้ เบื้องต้นรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำชับให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผน ดำเนินมาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังไฟไหม้ป่าพรุ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และการท่องเที่ยว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กรกฎาคม 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางไปมหาวิทยาลัยทากะซากิ ในจังหวัดกุนมะ เพื่อร่วมประชุมหารือกับ ดร.ทาเคชิ มิซึกุจิ (Takeshi Mizuguchi) อธิการบดีมหาวิทยาลัย และคณะ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ทั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) กล่าวว่า พอใจต่อความสำเร็จในการเจรจาหารือครั้งนี้ พร้อมจะทำความตกลงลงนาม MOU กับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ด้านแมลง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแมลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนทางเลือกใหม่ภายใต้นโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และนโยบายฮับแมลงโลกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังสอดรับกับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ประกาศให้ แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก

นอกเหนือจากการนำเข้าจิ้งหรีดผง โดยพัฒนาการเลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากเศษอาหารเหลือใช้แล้ว มหาวิทยาลัยทากะซากิ มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ผู้บริโภค จะช่วยพัฒนานโยบายตลาดนำการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย ประการสำคัญคือ การสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้และธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรจากจุดแข็งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและแมลงเศรษฐกิจ

นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า ตลาดอาหารจากแมลงในประเทศญี่ปุ่นมีศักยภาพในการเติบโตสูง ปัจจุบันผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารจากแมลงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนญี่ปุ่นให้ความสนใจกับอาหารจากแมลงมากขึ้น ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง อาทิ ข้าวเกรียบผสมผงจิ้งหรีด คุ้กกี้ ราเมนจิ้งหรีด ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขยายตลาดมายังประเทศญี่ปุ่น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กรกฎาคม 2565

รองนายกรัฐมนตรี เร่งยกระดับบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการใช้องค์ความรู้เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กล่าวในงานเสวนา “ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC” ส่วนหนึ่งของโครงการ“การหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”หรือ“EEC” จัดโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี สภาน้ำแห่งเชีย (AWC) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ภายใต้“โครงการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านน้ำกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2020-2024” ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งครอบคลุมการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ มาตรการกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสุขาภิบาลในพื้นที่ EEC และช่องว่างของกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ ก่อนนำไปปรับใช้จริงให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC โดยเร็ว โดยเฉพาะปรับใช้ให้ตรงตามบริบทของประเทศไทย เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องพัฒนาตลอดเวลา ทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติการ เพื่อให้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศมีความมั่นคงส่งผลถึงการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ

ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ พร้อมได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ระหว่างปี 2561-2580 สิ่งสำคัญการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภายในประเทศและพันธมิตรจากต่างประเทศด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กรกฎาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องชาวบางสะพานเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดตามความก้าวหน้างานขุดลอกคลองบางสะพานและคูคลองในพื้นที่อำเภอบางสะพาน เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมความพร้อมรองรับฤดูน้ำหลาก รวมถึงตรวจสภาพพื้นที่ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง และการตื้นเขินของแม่น้ำลำคลองที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะตลิ่งพังทลาย บริเวณพื้นที่คลองกรูด หมู่ที่ 4 บ้านหนองระแวง ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ริมคลองฯ ร่วมให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ

ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการขุดลอกขยายคลองบางสะพาน ระยะสุดท้าย ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้รับความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนที่อยู่ริมคลองเป็นอย่างดี ทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย และในส่วนของคลองกรูด ม.4 ตำบลธงชัย ต้องขอขอบคุณนายเลิศยศ แย้มพราย นายอำเภอบางสะพาน และพี่น้องชาวอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมพร้อมรับมือฤดูน้ำหลากต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.