• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 มิถุนายน 2565

วันนี้ (7 มิ.ย.65) นายสมพงษ์ บุญเฟรือง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ติดตามประเมินผลประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียโรงอาหาร ของโรงเรียนปากช่องพิทยาคม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม และเก็บตัวอย่างน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 2 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำ ณ ห้องปฏิบัติการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา)

โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11(นครราชสีมา) ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ศึกษาประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียจากโรงอาหารของสถานศึกษาริมลำตะคอง ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียให้ดีขึ้น ลดการระบายของเสียลงสู่ลำน้ำ ภายใต้โครงการลดของเสียในแหล่งน้ำวิกฤตและการจัดการคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำหลัก ประจำปีงบประมาณ 2565


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 มิถุนายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ระวังฝนตกหนัก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งและฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 มิ.ย.65) ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนัdบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช 116 มิลลิเมตร , ตราด 67 มิลลิเมตร และน่าน 44 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,042 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการเจาะน้ำบาดาลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร บริเวณ ต.หนองหิน อ.เมือง จ.ยโสธร และให้กรมเจ้าท่า ขุดลอกร่องน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณน้ำหาดปอ อ.ควนเนียง จ.สงขลา , น้ำปากบางสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา , น้ำปูลากาปะและร่องน้ำปูลาวาจิ อ.เมือง จ.นราธิวาส

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งและฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัด ด้วยการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในการผลิตน้ำประปาสำรวจแหล่งน้ำสำรองสำหรับผลิตน้ำประปา // จัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ วางแผนจัดเก็บน้ำสำรองทุกแห่งทั้งผิวดินและใต้ดิน เพื่อรองรับหน้าแล้ง // ขอให้ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำและเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับการเก็บน้ำ // สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรน้ำ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในชุมชน เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 มิถุนายน 2565

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับสหกรณ์ให้เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าดงหมู” จังหวัดนครพนม พร้อมเข้าช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้ประชาชนในพื้นที่ คทช.

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าดงหมู” ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับสหกรณ์ให้เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ปัจจุบันได้ออกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย และจัดคนลงในพื้นที่ พร้อมมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนให้กับประชาชนแล้ว 184 ราย รวม 195 แปลง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู รวมทั้ง จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ โดยเฉพาะให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐจัดสรรให้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างมูลค่าในที่ดินทำกิน สร้างรายได้ สร้างสวัสดิการทางสังคม สิ่งสำคัญช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางทฤษฎีใหม่ การสนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน ?เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งบริหารจัดการโดยชุมชนได้ ทําให้การบริหารจัดการที่ดินของชุมชนเกิดความยั่งยืน?

ทั้งนี้ สคทช. พร้อมด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมป่าไม้ ได้เตรียมยกระดับสหกรณ์ที่มีความพร้อมปรับเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และชุมชนในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคได้อย่างรวดเร็วตามนโยบายของชุมชน พร้อมจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยและงบประมาณการปรับปรุงบ้านให้กับเกษตรกรในพื้นที่ คทช. เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 70,000 บาท แบ่งเป็น งบสาธารณูปโภค และงบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไป

สำหรับภาพรวมมีพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนรวม 6 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 100,724 ไร่ ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู // ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยศรีคุณ // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกา แปลงที่ 2 (ระยะที่ 1) // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบ้านโพนสว่าง และป่าปลาปาก // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกา แปลงที่ 2 (ระยะที่ 2) และป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านโพนตูม และป่านางุม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มิถุนายน 2565

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : โลกหนึ่งเดียว กับสมดุลชีวิตที่ยั่งยืน” ที่เน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ กลไกทางสุขภาพและแนวทางการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพของตนเอง สร้างสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องดูแลสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการ One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว โดยให้ความสำคัญกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาขยะติดเชื้อ โดยในปี 2564 พบว่า มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ถึงร้อยละ 87 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทั้งจากโรงพยาบาล จากการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และสถานที่พักรักษาอื่นๆ ตลอดจนปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญ และกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ให้ฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 1 ใน 2 โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ต้อง เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยให้สื่อสารเตือนภัย แจ้งเหตุ การปฏิบัติตนและมาตรการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการเผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มิถุนายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งใช้ BCG Model เป็นแนวทางฟื้นฟูความแข็งแกร่งของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการประชุมนานาชาติสตอกโฮล์ม 50 ปี (Sotckholm + 50) ว่า ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร้ขีดจำกัดและจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหา ในส่วนของประเทศไทยได้มุ่งเน้นสร้างความสมดุลในทุกมิติ โดยใช้ BCG Model เป็นแนวทางฟื้นฟูความแข็งแกร่งของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลกและเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกเช่นกัน ซึ่งจุดแข็งนี้ไทยจึงได้รับการยอมรับเป็นครัวของโลก จึงไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติทางด้านการเกษตรแบบเดิมได้อีก ด้วยการหันมาปรับเปลี่ยนโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรนวัตกรรมบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ ขอแสดงจุดยืนและความตั้งใจจริงของไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า จากความตั้งใจจริงของไทยลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามแผนที่ประกาศไว้จะได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ด้านการเงิน และการสร้างขีดความสามารถจากพันธมิตรระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันไทยจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์เช่นกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 มิถุนายน 2565

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกิจกรรมจิตอาสารักษ์สิ่งแวดล้อม เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ไม่ทิ้งน้ำ 7 อย่าง และบ้านต้นแบบไม่ทิ้งเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ที่บ้านนายวิรัช จำปานิล ประธานเครือข่ายส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ซึ่ง นายวิรัช จำปานิล เป็นแบบอย่างของชาวชุม อ.พุทธมณฑล ที่ไม่ละเลยทุกสิ่งรอบตัว โดยนำน้ำที่ชำระล้างร่างกาย น้ำที่เหลือทิ้งจากการซักผ้า ล้างจาน ต่อท่อ PVC ที่ออกแบบไว้รองรับน้ำทิ้งให้ไหลออกมารดน้ำต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบ้าน รวมถึงนำน้ำทิ้งพักในถังที่เติมปุ๋ยชีวภาพแล้วปล่อยลงท่อสู่โคนต้นไม้ พบว่าทั้งสองวิธีทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แปรเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรของแผ่นดินได้อีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มิถุนายน 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 “Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว" โดยปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กำหนดประเด็นหลัก (Themeณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยในปีนี้กำหนดประเด็นเรื่อง “ONLY ONE EARTH : ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา” มุ่งเน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเดินหน้าอย่างจริงจังจากการประกาศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 พร้อมยกระดับความตกลงปารีส (NDCs) เป็นร้อยละ 40 และเสริมสร้างขีดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยได้ประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ แล้วยังเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ด้วยการจัดทำกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และพัฒนาเครื่องมือ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Build Forward Greener) ปรับเปลี่ยนชีวิตวีถีใหม่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นดูแลภาคดูดซับของก๊าซเรือนกระจก ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มการดูดซับของก๊าซเรือนกระจก (Carbon sinks) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ภาคการคมนาคมและการขนส่งได้พัฒนาการบริหารจัดการการเดินทางสำหรับประชาชนและการขนส่งด้วยระบบรางและทางน้ำ // ภาคการเงินและการลงทุน ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว การออกมาตรการงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก // ใช้เทคโนโลยีเก็บกักก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี // ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ลงทุนช่วยการเกษตรรายย่อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร // การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องเอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการลงทุนของภาคเอกชนไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 มิถุนายน 2565

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเรื่องการระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ในพื้นที่คลองเสื่อมโทรมในกรุงเทพมหานคร พื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา และพื้นที่คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมาตรการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การกำกับให้แหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมปฏิบัติตามกฎหมายและระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะสามารถลดความสกปรกที่จะระบายจากแหล่งกำเนิดมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ คพ. ในปีงบประมาณ 2565 รอบ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2564- เมษายน 2565) มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาด ที่ดินจัดสรร และฟาร์มสุกร จำนวนรวมทั้งสิ้น 302 แห่ง พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจำนวน 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 35.37 และแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจำนวน 159 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.63 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

นายอรรถพล กล่าวว่า การผลักดันการดำเนินงานการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีการจัดการเป็นไปตามมาตรฐานก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเป็นไปตามมาตรฐานและประเภทของการใช้ประโยชน์ และทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น ทส. โดย คพ. จึงจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพให้แก่แหล่งกำเนิดมลพิษที่มีผลคุณภาพน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ และผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย มีความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

การอบรมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาดและที่ดินจัดสรร จำนวนทั้งสิ้น 137 คนเข้าร่วมอบรม และ คพ.จะลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป สถานประกอบการใดที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกลไกการจัดการน้ำเสียของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายอรรถพล กล่าว


  1. "วราวุธ" กำชับเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนไทยเห็นความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบให้มากขึ้น
  2. กรมอุทยานฯ เตรียมลงนามโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาวในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติ
  3. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.พัทลุง ประชุมหารือแก้ไขปัญหาการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ยืนยัน จะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
  4. ก.ทรัพย์ ออกประกาศแนวปฏิบัติในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย เพื่อใช้สืบหาต้นตอผู้ก่อมลพิษมารับโทษ
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.