• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 พฤศจิกายน 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566

ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 อาจมีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังคงพบปริมาณฝุ่น PM2.5 เท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี และในพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลถึงสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่น PM2.5 แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหา จึงเน้นยกระดับความเข้มงวดของการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่กับ 7 มาตรการ ตามกรอบสื่อสารเชิงรุกยกระดับปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะดำเนินการภายใต้ 16 แนวทาง อาทิ วิจัยหาต้นเหตุ/ ตรวจโรงงาน/ แจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง / ตรวจสถานที่ก่อสร้างและตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/ ใช้ CCTV ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ/ ส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม. เป็นรถพลังงานไฟฟ้า / ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด และ พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น ผ่านโครงการ BKK Clean Air Area

ขณะที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แบบบูรณาการ โดยกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน (Hotspot) ไม่เกิน 9,833 จุด และลดพื้นที่เผาไหม้ลง 20% หรือไม่เกิน 718,056 ไร่ พร้อมดำเนินการภายใต้ 4 แนวทางเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมืองควบคู่กับการควบคุมการเผาป่า ได้แก่ ควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ ประสานงานร่วมกับขนส่งจังหวัด / ควบคุมการเผาเศษใบไม้หรือขยะจากครัวเรือน / ล้างทำความสะอาดถนนทุกสายในจังหวัด / ควบคุมฝุ่นละอองจากไซต์ก่อสร้างหรือควันจากโรงงาน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือทั้ง 4 จังหวัด หารือร่วมกันในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) และเพิ่มการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “Fire D” (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน ศูนย์วิชาการของจังหวัด เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังคงเฝ้าระวังฝนหนักในภาคใต้จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักมากบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ภูเก็ต ตรัง และระนอง ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,718 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75

ทั้งนี้ กอนช.ยังได้ติดตามการรับมือฝนในพื้นที่ภาคใต้ เบื้องต้นกรมชลประทานได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆเป็นข้อมูลใช้บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำที่คำนึงถึงการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ขณะนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะเข้าสู่หน้าแล้งแล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 พฤศจิกายน 2565

ส่วนใหญ่มลพิษอากาศกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางที่เผชิญกับมลพิษอากาศที่สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกอย่างมาก

ในทางเศรษฐศาสตร์สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งผลการประเมินผลกระทบมักแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นมูลค่าความเต็มใจจ่ายสำหรับทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี ที่ลดลงของ PM2.5 มีค่าเท่ากับ 7,111 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี

ในสหภาพยุโรปพบว่า ทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปที่แท้จริงลดลง 0.8% โดย 90% ของผลกระทบเกิดจากการที่ผลผลิตต่อแรงงานลดลง

สำหรับประเทศไทยครัวเรือนกรุงเทพฯ มีความเต็มใจจ่ายในทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปีที่ลดลงของ PM10 และ PM2.5 เท่ากับ 4,392-5,794 และ 8,116 บาทต่อปี ตามลำดับ

หากนำมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายของแต่ละจังหวัดมาคูณกับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เกินค่าแนะนำเก่าขององค์การอนามัยโลก ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2563 มูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจาก PM2.5 จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

โดยกรุงเทพฯ มีมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุดเท่ากับ 343,288 ล้านบาท โดยมูลค่าผลกระทบข้างต้นครอบคลุมเฉพาะส่วนของครัวเรือน ยังไม่ได้รวมมูลค่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 พฤศจิกายน 2565

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตรัง สตูล และพังงา ทำให้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,778 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

กอนช. ยังได้ติดตามการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานได้เข้าไปสนับสนุนการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่งหลังน้ำลด พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ด้วยการนำรถขุดตีนตะขาบขุดลอก ปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่วัง บริเวณตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณหน้าประตูทดน้ำกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ C1 ในจังหวัดพิษณุโลก บริเวณคลองนครเนื่องเขต บริเวณตลาดโบราณนครเนื่องเขต และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองนครเนื่องเขต ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณตำบลบ้านหลุม อำเภอเมืองสุโขทัย , ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และตำบลหน้าโคก อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเร่งระบายน้ำช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19  พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังคงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (19 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยะลา และสุราษฎร์ธานี ทำให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายนนี้ บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,782 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และนคปฐม // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด คือ หนองบัวลำ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และอุบลราชธานี และภาคใต้ 2 จังหวัด คือ สงขลา และปัตตานี โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำท่วมขังและช่วยเหลือต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ฉบับที่ 54 หลัง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวน อ่าวไทยตอนบน เข้าสู่แนวร่องมรสุมที่เลื่อนขึ้นมาพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน คือ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในจังหวัดเพชรบุรี บริเวณอำเภอท่ายาง บ้านลาดชะอำ แก่งกระจาน และเมืองเพชรบุรี // ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณอำเภอบางสะพาน เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทับสะแก บางสะพานน้อย และกุยบุรี // ระนอง บริเวณอำเภอละอุ่น // ชุมพร บริเวณอำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอดอนสัก เกาะสมุย กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เกาะพะงัน เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาเดิม พุนพิน พนม บ้านตาขุน และท่าชนะ // พังงา บริเวณอำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง เมืองพังงา กะปง ทับปุด และตะกั่วทุ่ง // ภูเก็ต บริเวณอำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต // กระบี่ บริเวณอำเภอปลายพระยา อ่าวลึก และเมืองกระบี่ // ตรัง บริเวณอำเภอนาโยง เมืองตรัง ห้วยยอด และรัษฎา // นครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอทุ่งสง ลานสกา ร่อนพิบูลย์ ขนอม ช้างกลาง นาบอน พระพรหม จุฬาภรณ์ สิชล เมืองนครศรีธรรมราช นบพิตำ ฉวาง พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ พิปูน ทุ่งใหญ่ ชะอวด ถ้ำพรรณรา ท่าศาลา บางขัน และปากพนัง // พัทลุง บริเวณอำเภอศรีนครินทร์ ศรีบรรพต เมืองพัทลุง ควนขนุน และป่าพะยอม // สตูล บริเวณอำเภอละงู และเมืองสตูล พร้อมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำสวี แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปากพนัง

ทั้งนี้ กอนช. ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำลดผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 พฤศจิกายน 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามประเด็นสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการประชุมเอเปค 2022 เพื่อนำกลับมาพัฒนาและต่อยอดในอนาคต

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามการทำงานศูนย์ประสานงานเอเปค ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อติดตามประเด็นสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องภายใต้บทบาทของกระทรวงทรัพย์ ณ อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นช่วงการประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมเอเปคครั้งแรกที่ได้นำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาเป็นแนวคิดหลักขับเคลื่อนที่คาดหวังว่าเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 นี้ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงทรัพย์ได้ขับเคลื่อนงานตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปสู่การดำเนินงานในเชิงรูปธรรม ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการดำเนินงาน 4 ประเด็นหลัก คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานการพัฒนา // การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม // การลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะและของเสีย และสุดท้าย การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพย์จะดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ควบคู่กับส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการรับรองและส่งเสริมการตลาดมากขึ้น รวมถึง ลดการใช้ทรัพยากร นำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ร้อยละ 100 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 พฤศจิกายน 2565

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด (Aerosoft) ตั้งอยู่ถนนเทพรัตน กม.16 จังหวัดสมุทรปราการ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุสาหกรรม เจ้าหน้าที่กระทรวงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ และผู้เกี่ยวข้อง ได้เดินทางลงพื้นที่ในที่เกิดเหตุ โดยทางด้านเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษได้นำเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศและมลพิษโดยรอบของโรงงานต้นเพลิง

นอกจากนั้น ยังเก็บค่าตัวอย่างของน้ำ โดยเฉพาะในท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อโรงงานลงสู่คลองสาธารณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เปิดเผยว่าจากการตรวจวัดสภาพอากาศในขณะนี้ยังไม่พบสารพิษในอากาศแต่อย่างใดมีเพียงฝุ่นละอองจากขี้เถ้าของไฟไหม้เท่านั้นที่เกินค่ามาตรฐานแต่ก็ไม่มากจนน่าเป็นกังวล

ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารสุขอำเภอบางพลี ร่วมกับโรงพยาบาลเซ็นทรัลปาร์ค นำบุคลากรทางแพทย์ออกสำรวจตรวจสอบผู้ป่วยในชุมชนและผู้ที่พักอาศัยโดยรอบโรงงาน โดยพบเพียงแรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันไฟเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา กว่าสิบราย ซึ่งอาการยังปลอดภัยดี และได้ให้คำแนะนำผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในเบื้องต้น

ด้านเจ้าหน้าที่วิศวกรและผู้ชำนาญการตัวโครงสร้างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่สำรวจตัวโครงสร้างและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทางด่วนบูรพาวิถีที่อยู่ห่างจากต้นเพลิงเพียงร้อยกว่าเมตรเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบความร้อนและผลกระทบต่อทางด่วนแต่อย่างใด มีเพียงคราบเขม่าควันไฟที่เกาะตามเสาตอม่อของทางด่วนเท่านั้น ยืนยันยังปลอดภัยแข็งแรงดี


  1. ไทยและเนเธอร์แลนด์ ร่วมกันหารือทวิภาคีด้านการจัดการน้ำระหว่างการประชุม COP 27 พร้อมเชิญไทยเข้าร่วมการประชุม UN 2023 Water Conference ช่วง มี.ค.66
  2. คพ. แจ้งเตือนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเสี่ยงน้ำท่วมในภาคใต้และภาคตะวันตก 16 จังหวัด พร้อมรับมือและเตรียมป้องกันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยช่วงอุทกภัย
  3. ไทย พร้อมสนับสนุนทุกประเทศรับมือปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะนำเสนอการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีสต่อที่ประชุม COP 27
  4. กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.