• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ค่าฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ยังสูงขึ้นเกือบทุกพื้นที่

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มีนาคม 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด พบค่าฝุ่น PM2.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังสูงเกือบทุกพื้นที่ เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 13 พื้นที่ และสีแดง 18 พื้นที่ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก อยู่ที่ 91 - 143 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบฝุ่นสูงสุดบริเวณตำบลธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เพราะยังพบการเผาในที่โล่ง การเผาไร่อ้อย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น

พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนบนและตอนล่างถึงวันที่ 12 มีนาคม ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบบางพื้นที่ค่าฝุ่น PM2.5 ปรับตัวสูงขึ้นบางพื้นที่เกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 2 พื้นที่บริเวณจังหวัดเลย และนครพนม อยู่ที่ 51 - 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คุณภาพอากาศปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่เช่นกัน จากสภาพอากาศปิด ลมอ่อน และบางพื้นที่การจราจรค่อนข้างหนาแน่นทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมตัว โดยยังพบเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 83 พื้นที่ เช่น ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน ตำบลนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ อยู่ที่ 51 - 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ถึงวันที่ 8 มีนาคม มีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงอีกบางพื้นที่ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมเป็นต้นไปสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชัน Air4Thai


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.